Friday, September 25, 2009

สถานการณ์คนไร้สัญชาติ 2551

แนวคิดคนไร้สัญชาติ
คนไร้สัญชาติหมายถึงสภาพที่บุคคลที่ไม่มีสัญชาติของรัฐใดรัฐหนึ่งในโลกนี้เลย จากเหตุผลที่ตัวเขาเอง หรือบุพการี หรือกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติของประเทศต่าง ๆ ส่งผลให้คนเหล่านั้นกลายเป็น “คนไร้รัฐ” รวมทั้งกลายเป็น “คนต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย” ของทุกรัฐในโลกนี้
ประเภทปัญหาของกลุ่มคนไร้รัฐ
การจำแนกประเภทปัญหาของกลุ่มคนไร้รัฐที่เกิดแก่บุคลธรรมดาที่เกิด หรืออาศัยในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติได้แบ่งประเภทไว้ 4 ประเภท คือ
1) ความไร้รัฐที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชนพื้นเมือง เหตุจากที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ออกโดยหน่วยงานราชการของไทย หรือหากมีเอกสารที่ทางรัฐไทยออกให้ก็เป็นเอกสารที่มิได้ยอมรับความเป็นไทย โดยสัญชาติของพวกเขา เช่น กลุ่มบุคคลที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่สูงของประเทศไทย (ชาวเขา หรือ ชาวไทยภูเขา ปัจจุบันเรียกว่า บุคคลบนพื้นที่สูง) กลุ่มบุคคลที่อาศัยอยู่บริเวณชายทะเล ได้แก่ ชาวเลในบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ และบุคคลที่อาศัยในบริเวณพื้นที่ป่าตามแนวชายแดน ซึ่งการปักปันเส้นเขตแดนประเทศยังไม่สำเร็จ
2) ความไร้รัฐเกิดกับบุคคลที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ หรือที่เรียกว่า ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย กลุ่มชาติพันธุ์ที่ประสบปัญหาความไร้รัฐเกิดจาก เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบรรพบุรุษซึ่งไม่ใช่คนสัญชาติไทยโดยการเกิด โดยหลักการสืบสายโลหิต กลุ่มชาติพันธ์ที่ประสบปัญหาไร้รัฐ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีรากเหง้าจากบรรพบุรุษที่เกิดนอกประเทศไทย และกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีรากเหง้าจากบรรพบุรุษที่เกิดในประเทศไทย ที่ขาดเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล หรือเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล บกพร่อง
3) ความไร้รัฐที่เกิดแก่ผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทย หรือผู้ลี้ภัย หรือ ผู้หนีภัยการสู้รบ รวมทั้งเพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจ เช่น ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า จากการสู้รบกันระหว่างรัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อยในพม่า ที่ไม่สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนได้ เป็นต้น
4) ความไร้รัฐที่เกิดแก่บุคคลไร้รากเหง้า คือ เป็นบุคคลที่สูญเสียความรู้ในรากเหง้าของตนเอง โดยไม่ทราบว่าตนนั้นเป็นบุตรของใคร หรือ บุคคลนั้นไม่รู้ว่าตนเกิด ณ ที่ใด เช่น บุคคลที่เป็นเด็กจรจัด หรืออดีตเด็กจรจัด ที่พลัดพรากจากบุพการีตั้งแต่ก่อนจำความได้ หรือ เด็กที่เกิดในยุคที่การจดทะเบียนราษฎรของประเทศไทยยังไม่ชัดเจน หรือเด็ก หรืออดีตเด็กทีอาศัยในพื้นที่ที่ปฏิบัติการด้านทะเบียนราษฎรยังมีความบกพร่องไม่ถั่วถึง
สถานการณ์คนไร้สัญชาติและการได้รับสัญชาติ
1. การมีสัญชาติตามระเบียบ 2543 (ชาวเขาติดแผ่นดิน-สัญชาติไทยโดยสิทธิ) ข้อมูลเดือน กรกฎาคม จำแนกได้เป็น ระดับประเทศ จำนวน 86,234 คน จังหวัดเชียงราย จำนวน 51,442 คน โดยมียอดคงค้างในระดับประเทศจำนวน 7,255 คำร้อง (ประมาณ 17,606 คน) (ที่มา: โครงการพัฒนาสถานภาพและคุ้มครองสิทธิเด็กไร้รัฐ และเด็กไรัสัญชาติในประเทศไทย (ภาคเหนือ) www.tobethai.org อ้างในรายงานสถานการณ์ผู้ด้อยโอกาสและข้อเสนอในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาส กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2551)
2. การได้สัญชาติตามมาตรา 7 ทวิ (พ่อแม่เข้าเมืองก่อนปี พ.ศ. 2518-ได้สัญชาติโดยรับไทยเป็นผู้ให้) (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2548) ระดับประเทศ จำนวน 39,517 คน อยู่ระหว่างดำเนินเรื่องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณา 6,923 คน และมีจำนวนยอดคงค้างในระดับประเทศ 29,270 คำร้อง
3. เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2548 สภาความมั่นคงแห่งชาติได้แสดงตัวเลขจำนวนคนไร้สัญชาติในประเทศไทยว่ามีมากกว่า 2,000,000 คน และในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูง ประมาณ 377,677 คน และประเมินว่า แนวโน้มจำนวนคนไร้สัญชาติที่หลบหนีเข้าเมืองจะสูงขึ้น
4. พบปัญหาผู้ไร้รัฐจากการประสบภัยพิบัติสึนามิไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ประกอบด้วย (1) กลุ่มชาวมอแกน ซึ่งเป็นเผ่าที่ยังไม่ได้รับสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น (2) กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น (3) กลุ่มผู้ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร์ พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด หรือถูกทอดทิ้งไว้ (4) กลุ่มผู้สูญเสียหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ ถือเป็นกลุ่มไร้สัญชาติกลุ่มใหม่ ที่ย้ายมาตั้งรกรากนานแล้ว และ (5) กลุ่มไร้รากเหง้า ซึ่งไม่ทราบว่าตัวเองคือใคร ทำให้ไม่ได้รับสิทธิ และการช่วยเหลือเช่นเดียวกับ 4 กลุ่มแรกที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ความพยายามในการแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ
หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น องค์กรแพลนประเทศไทย สภาทนายความ คณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายของสิทธิของบุคคลในไประเทศไทย รวมทั้งภาควิชาการ ได้ให้ความสำคัญมากขึ้นกับความพยายาม แก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ และมีการประสานความร่วมมือกันมากขึ้น เช่น การที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมากกว่า 30 องค์กร ได้ร่วมกันจัดงานวันเด็กไร้สัญชาติขึ้น ในช่วงเดือนมกราคมที่เป็นวันเด็กแห่งชาติ ในจังหวัดแม่อ่องสอน อำเภอสบเมย และสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งนอกจากการจัดงานวันเด็กให้เด็กไร้สัญชาติแล้ว ยังมีการสัญจรไปยังหมู่บ้านเด็กไร้สัญชาติ และมีการเปิดศูนย์ปรึกษากฎหมายสถานะบุคคลและสัญชาติ เป็นต้น (ที่มา: รายงานสถานการณ์ผู้ด้อยโอกาสและข้อเสนอในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาส กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกับ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551)

อาสาเฝ้าระวังทางสังคม
www.wrote107.blogspot.com

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment