Wednesday, September 9, 2009

พฤติกรรมบริโภคเหล้าบุหรี่ในเด็กเยาวชนน่าเป็นห่วง

จากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2552 ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 เดือนกันยายน 2552 ในมิติด้านพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคน ในรายงานกล่าวว่า การบริโภคแอลกอฮอล์และยาสูบในภาพรวมลดลง แต่การบริโภคในกลุ่มเด็กและเยาวชน ขยายตัวอย่างน่าเป็นห่วง และการมีร้านจำหน่ายใกล้สถานศึกษาทำให้หาดื่มได้ง่าย
โดยค่าใช้จ่ายการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ค่าใช้จ่ายการบริโภคยาสูบของครัวเรือนในประเทศไทยลดลงจาก 5,654 ล้านบาทในไตรมาสสองของปี 2551 เป็น 5,220 ล้านบาท ในปี 2552 หรือลดลงร้อยละ 7.7 เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ลดลงจากไตรมาสสองของปี 2551 มูลค่า 38,519 ล้านบาท เหลือเพียง 34,545 ล้านบาทในปี 2552 หรือลดลง ร้อยละ 10.3 สาเหตุจากการที่รัฐบาลได้มีการปรับเพดานอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในเดือนพฤษภาคม ทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 และการปรับเพิ่มอัตราภาษีเบียร์ สุรา และบรั่นดี ทำให้ราคาจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7-9 แม้ว่าการบริโภคแอลกอฮอล์ในภาพรวมจะลดลง
การบริโภคในกลุ่มเด็กและเยาวชนขยายตัวในอัตราที่น่าเป็นห่วง ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2549-2550 พบเด็กและเยาวชนในช่วงอายุระหว่าง 15-24 ปี มีอัตราการดื่มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.1 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 21.9 ในปี 2550 ซึ่งสถานที่จำหน่ายที่อยู่รอบสถานศึกษาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หาดื่มได้ง่าย จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา พบว่าในรัศมี 500 เมตรรอบมหาวิทยาลัยจำนวน 15 แห่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1,712 ร้าน แม้แต่สถานศึกษาระดับประถม และมัธยมร้อยละ 73 จาก 118 แห่ง มีร้านเหล้าตั้งอยู่อยู่ในระยะ 100 เมตร และมีการดึงดูดนักดื่มหน้าใหม่ โดยการตกแต่งบรรยากาศในร้าน และดัดแปลงสูตรการผสมเหล้าให้ดื่มง่าย เช่น เหล้าปั่นที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ห้ามจำหน่ายสุราเฉพาะในบริเวณสถานศึกษาและห้ามจำหน่ายแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายเพื่อขยายขอบเขตการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครอบคลุมบริเวณรอบสถานศึกษาในรัศมี 500 เมตร และอนุญาตให้ขายเหล้าปั่นได้เฉพาะในสถานบริการที่มีใบอนุญาตตาม พ.ร.บ. สถานบันเทิง หากมีการดำเนินมาตรการด้านกฎหมายควบคู่กับการรณรงค์ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เช่น การรับน้องอย่างสร้างสรรค์จากเดิมที่มีการใช้ความรุนแรงหรือบังคับให้ดื่มเหล้ามาเป็นการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์จะช่วยลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชนได้ (ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กันยายน 2552)

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment