Wednesday, September 16, 2009

ผู้สูงอายุเหยื่อความรุนแรง

นักวิชาการ แสดงความเป็นห่วง ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน อาจส่งผลให้ผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเพิ่มขึ้น เตรียมเสนอทางออกในเชิงนโยบายต่อรัฐบาล คาดแล้วเสร็จสิ้นปีนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวิณี วิวัฒน์วานิช คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการวิจัยเรื่องความรุนแรงต่อผู้สูงอายุไทย: การทบทวนองค์ความรู้และสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าในปี 2549-2550 ศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้สำรวจความเสี่ยงของผู้สูงอายุทั่วประเทศจำนวน 50,058 ราย ปรากฎว่าการถูกทำร้ายทางกาย ที่พบมากที่สุดคือการถูกบังคับขู่เข็ญ รองลงมาเป็นการถูกฉุดกระชาก ถูกตบตี ส่วนการทำร้ายจิตใจส่วนใหญ่ ถูกดุด่า ดูถูก รองลงมาคือถูกแสดงความเบื่อหน่าย หรือการแสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุเป็นภาระ และถูกกีดกันไม่ให้แสดงความคิดเห็น ถูกไล่ ไม่ให้อยู่อาศัย และที่น่าตกใจคือกรณีที่ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นการกระทำของผู้ใกล้ชิดผู้สูงอายุมากที่สุด คือ บุตรและคู่สมรส โดยปัจจัยที่เร่งให้เกิดความรุนแรง คือ ปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว ความเครียดของลูกหลานที่ต้องดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเป็นเวลานาน
ดังนั้น ในสภาพเศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน จึงอาจส่งผลให้แนวโน้มของความรุนแรงต่อผู้สูงอายุมีมากขึ้น รวมถึงมีการทอดทิ้งผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวิณี กล่าวว่า ข้อมูลทั้งหมดทำให้ทีมวิจัยเจาะลึกให้ถึงปัญหา และหาทางออกในเชิงนโยบายเสนอต่อรัฐบาล เพื่อหาทางคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ โดยภายใน 3 - 4 เดือนข้างหน้า จะกำหนดนิยามความรุนแรงต่อผู้สูงอายุในสังคมไทยได้ ซึ่งอาจอิงกับคำนิยามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้แล้ว รวมทั้งจะประเมินความรุนแรงของสถานการณ์ ตลอดจนกำหนดเกณฑ์ในการวินิจฉัย หรือเฝ้าระวังผู้สูงอายุจากความรุนแรง เพื่อใช้ควบคู่กับมาตราฐานทางกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้. (ที่มา: สำนักประชาสัมพันธ์ เขต 1 ขอนแก่น วันที่ 9 กรกฎาคม 2552)

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment