Sunday, January 16, 2011

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว


           ปัจจุบันปัญหาความรุนแรงในครอบครัวถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อสังคม จากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้สมาชิกในครอบครัวมีเวลาที่จะอยู่ด้วยกันน้อยลง ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจภายในครอบครัว ซึ่งอาจก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวขึ้น และเนื่องในโอกาสวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีกำหนดให้เป็นวันพ่อแห่งชาติ ดังนั้นศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร โดยแม่โจ้โพลล์ จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนไทยทั่วประเทศ อายุระหว่าง 13- 23 ปี จำนวน 997 ราย ต่อความคิดเห็นเกี่ยวกับพ่อต่อปัญหาความรุนแรงในครอบครัว (ภาคเหนือ ร้อยละ 46.1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 28.6 ภาคกลาง ร้อยละ 13.4 และภาคใต้ ร้อยละ 11.8) ระหว่างวันที่ 11 พ.ย. – 3 ธ.ค. 53 สรุปผลดังนี้ คือ
           เมื่อสอบถามถึงสถานะความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับพ่อนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.4 บอกว่า อาศัยอยู่ด้วยกันกับพ่อ ส่วนร้อยละ 21.6 บอกว่าไม่ได้อยู่กับพ่อ (พ่อไปทำงานที่อื่นหรือลูกต้องมาเรียนไกลบ้าน ร้อยละ 42.3 ,พ่อหย่าร้างกับแม่ ร้อยละ 27.0,และพ่อเสียชีวิต ร้อยละ 30.7) เมื่อสอบถามถึงความสนิทสนมระหว่างเยาวชนกับพ่อ พบว่า ร้อยละ 36.8 บอกว่าสนิทกับพ่อมาก รองลงมาคือ ร้อยละ 31.8 สนิทกับพ่อมากที่สุด ตามลำดับ ส่วนการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวนั้น เยาวชนร้อยละ 43.4 บอกว่าเคยเกิดความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งการเกิดความรุนแรงในครอบครัวนั้นส่วนใหญ่เป็นการใช้วาจาที่รุนแรงต่อกัน (ร้อยละ 84.8) รองลงมาคือ การทำลายทรัพย์สินภายในบ้าน (ร้อยละ 11.3) และการทำร้ายร่างกายสมาชิกในครอบครัว (ร้อยละ 7.6) ตามลำดับ ด้านความคิดเห็นของเยาวชนต่อพ่อที่กล่าวว่าพ่อเป็นต้นเหตุของการเกิดความรุนแรงในครอบครัวจริงหรือไม่ โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.1 บอกว่าพ่อไม่ใช่ต้นเหตุของการเกิดความรุนแรงในครอบครัว โดยเห็นว่าสาเหตุของความรุนแรงในครอบครัวอาจเกิดมาจากตัวเอง แม่ หรือบุคคลอื่นก็ได้ ส่วนร้อยละ 17.0 บอกว่าพ่อเป็นต้นเหตุของความรุนแรงในครอบครัว เนื่องจากพ่อมักมีอารมณ์ร้อน ฉุนเฉียวง่ายและชอบดื่มสุราจนขาดสติ ส่งผลก่อให้เกิดความรุนแรงกับสมาชิกในครอบครัวได้ง่าย ซึ่งก็สอดคล้องกับความคิดเห็นที่สอบถามถึงสาเหตุของการเกิดความรุนแรงในครอบครัว เยาวชนส่วนใหญ่ร้อยละ 43.7 บอกว่าเกิดจากการดื่มสุราและติดสารเสพติดอื่นๆ รองลงมาคือ ความเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจและการทำงาน ร้อยละ 35.7 และอื่นๆ ร้อยละ 20.6 ( วัฒนธรรมไทยที่มองว่าเพศชายมีอำนาจมากกว่าเพศหญิง, การได้รับความรุนแรงจากครอบครัวเมื่อวัยเด็ก,ความไม่เข้าใจกันของคนในครอบครัว ) ส่วนข้อเสนอแนะของเยาวชนต่อพ่อในการช่วยลดความรุนแรงในครอบครัวได้อย่างไรนั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 40.5 อยากให้พ่อให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกและรู้จักการควบคุมอารมณ์ และพูดคุยกับคนในครอบครัวอย่างมีเหตุผล รองลงมาคือ ร้อยละ18.2 อยากให้พ่อเลิกดื่มสุรา และร้อยละ 10.2 อยากให้พ่อเป็นผู้นำที่ดีของครอบครัว ตั้งใจทำงาน ส่วนร้อยละ 31.2 ไม่แสดงความคิดเห็น
           จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าการจะแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมนั้น ควรเริ่มจากการสร้างความรักความเข้าใจอันดีของสมาชิกในครอบครัวให้เกิดขึ้นก่อน โดยสมาชิกแต่ละคนควรตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเองและทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด โดยเฉพาะพ่อแม่นั้นควรให้เวลากับลูกและให้ความรัก ความอบอุ่น ตลอดจนอบรมคุณธรรมจริยธรรมให้กับลูกอย่างสม่ำเสมอ เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าครอบครัวที่อบอุ่นนั้นจะช่วยสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพให้กับประเทศต่อไป
           ที่มา: แม่โจ้โพล ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร,2553

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment