Wednesday, September 2, 2009

พฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทย 51 ตอน 1

รายงานพฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทย 2551 ศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทยในพื้นที่ 75 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร โดยสำรวจข้อมูลจากเด็กอายุ 13-18 ปี (ม.1-ม.6) จังหวัดละ 800 ตัวอย่าง ในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภออื่น ๆ จำนวนทั้งสิ้น 87,212 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2551 โดยศึกษาพฤติกรรมเด็ก 7 ด้าน คือ ด้านการเรียน ด้านการดูแลสุขภาพ ด้านความรุนแรงและความปลอดภัย ด้านสุขภาพใจ ด้านการบริโภค บุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแฮลกอฮอร์และสิ่งเสพติด ด้านความรักและพฤติกรรมทางเพศ และด้านการใช้เวลาว่างและการบันเทิง โดยมีรายงานผลการศึกษา ด้านพฤติกรรมการเรียน และพฤติการการดูแลสุขภาพ โดยสรุป ดังนี้
1.พฤติกรรมด้านการเรียน พบว่า กลุ่มตัวอย่างชอบเรียน 5 อันดับ คือ คณิตศาสตร์ (ร้อยละ 19.0) คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 16.2) พละศึกษา (ร้อยละ 11.4) ภาษาอังกฤษ (ร้อยะละ 11.1) และ วิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 10.8) ตามลำดับ ส่วนพฤติกรรมการหนีเรียน ตามกลุ่มจำนวนครั้ง พบว่า เคยหนีเรียน 1-2 ครั้ง (ร้อยละ 20.4) รองลงมาหนีเรียน 3-5 ครั้ง (ร้อยละ 7.2) และน้อยที่สุด หนีเรียน 6-10 ครั้ง (ร้อยละ 2.1) โดยสาเหตุการหนีเรียน คือ เบื่อครู (ร้อยละ 11.1) เพื่อนชวน (ร้อยละ 7.4) และมีกิจกรรมอื่นต้องทำ (ร้อยละ 6.6) โดยผู้ที่ตอบว่าเบื่อครู พบว่า หนึ่งในสาม (ร้อยละ 35.5) ระบุว่าสอนไม่เข้าใจ และหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 25.8) ระบุว่า ครูดุ เข้มงวดเกินไป
2. พฤติกรรมด้านการดูแลสุขภาพ ผลการศึกษาพบว่า ความพอใจในรูปร่างตนเอง กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 51.1) ระบุว่า พอใจในรูปร่างตนเองระดับพอดี ร้อยละ 20.7 ระบุว่าค่อนข้างอ้วนไป ร้อยละ 18.9 ระบุว่าค่อนข้างผอม โดยที่การมีโรคประจำตัว 3 อันดับแรก คือ โรคภูมิแพ้ (ร้อยละ 5.2) โรคเกี่ยวกับช่องท้อง (ร้อยละ 3.6) และโรคเกี่ยวกับระบบหายใจ (ร้อยละ 2.2) ด้านความคิดในการเสริมแต่งร่างกาย พบว่า ต้องการลดน้ำหนักมากที่สุด (ร้อยละ 14.6) รองลงมาต้องการผ่าติดเสริมสวย (ร้อยละ 8.3) ส่วนการดื่มน้ำอัดลมในรอบ 1 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มใหญ่ (ร้อยละ 49.5) ระบุว่า ดื่มเพียงบางวัน รองลงมาไม่ดื่มเลย ร้อยละ 27.5 ด้านการออกกำลังกายในรอบ 1 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มใหญ่ระบุว่าไม่มีความแน่นอนในการออกกำลังกาย (ร้อยละ 43.2) รองลงมา ร้อยละ 15.1 ไม่เคยออกกำลังกายเลย สรุปได้ว่า การดูแลสุขภาพร่างกาย มากกว่าครึ่งมีรูปร่างพอดี แต่มีข้อสังเกตว่า เมื่ออายุมากขึ้นกลับมีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานมากขึ้น ซึ่งมีความสอดคล้องกับการต้องการลดน้ำหนักถึงร้อยละ 14.6 มีการการทานอาหารประเภทขบเคี้ยวถึงร้อยละ 8 และไม่มีการออกกำลังกายเลยถึงร้อยละ 15.1
โดย.....อาสาเฝ้าระวังทางสังคม

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment