รายงานข่าวหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 ถึงผลการประชุม “เพศวิถีศึกษากับเพศวิถีปฏิบัติในสังคมไทย ครั้งที่ 2” จัดโดยศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ และ แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ผศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวในวงเสวนาเรื่อง “ทิศทางการแก้ไขกฎหมายการล่วงละเมิดทางเพศ” ว่า ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเป็นภัยคุกคาม พบได้ทั้งที่ทำงาน สถานศึกษา บ้าน และสถานที่สาธารณะ และพบได้กับทุกคนทั้งเด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่กฎหมายที่จะแก้ไขและจัดการปัญหาดังกล่าวในประเทศไทยยังไม่เข้มแข็งพอที่จะแก้ปัญหาได้
ผศ.ดร.สุชาดา กล่าวว่า เมื่อพิจารณากฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการคุกคามทางเพศของไทย พบว่า ยังไม่มีกฎหมายที่เหมาะสม เพื่อป้องกัน เยียวยาปัญหาการคุกคามทางเพศ แม้จะมีการตรากฎหมายเพื่อคุ้มครองระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ในเรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศ แต่ยังไม่มีกฎหมายที่ป้องกันการล่วงละเมิดระหว่างลูกจ้าง หรือการถูกคุกคามในที่ทำงาน หรือ หน่วยงานดูแลการให้คำปรึกษา ร้องเรียน สำหรับหน่วยงานราชการมีโทษกรณีกระทำผิดหลายระดับแต่ไม่มีการระบุในกรณีการล่วงละเมิดทางเพศ เช่นเดียวกับในสถานศึกษา
ผศ.ดร.สุชาดา กล่าวว่า จากรายงานปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศในประเทศต่างๆได้พบปรากฎการณ์สำคัญ เช่น ในสหภาพยุโรปผู้หญิง 40%-50% แจ้งว่าถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน การสำรวจในประเทศฮ่องกง พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่สัมภาษณ์ 25% เคยถูกคุกคามทางเพศและหนึ่งในสามเป็นผู้ชาย ซึ่งในจำนวนน้อยนี้กล้าจะรายงานเพียง 6.6% เพราะเกรงโดนล้อเลียน ในขณะที่ การสำรวจของคณะกรรมการโอกาสที่เท่าเทียมกันแห่งออสเตรเลียเมื่อปี 2547 นั้น พบว่า 18% ของกลุ่มตัวอย่างอายุ 18-64 ปี เคยถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน โดยเป็นการคุกคามทางร่างกาย 62% แต่มีเพียง 32% ที่กล้าร้องเรียน และยังพบว่าผู้ชายที่มักถูกคุกคามมากที่สุด คือ กลุ่มรักเพศเดียวกัน ซึ่งแนวโน้มเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ
“ข้อเสนอคือ ต้องการให้ภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ คือ อาจจะมีการร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ โดยเพิ่มความผิดอาญามากขึ้น จากเดิมที่มีโทษเพียงลหุโทษเท่านั้น หรือการปรับเพิ่มโทษในกฎหมายอาญา โดยจำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อนำมาแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศอย่างจริงจัง และไม่ได้ทำเฉพาะการถูกล่วงละเมิดในเพศหญิง แต่หมายความถึงทุกเพศ ทุกวัย”ผศ.ดร.สุชาดา กล่าว
น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องส่วนตัว อย่างที่เคยเข้าใจ แต่เป็นเรื่องที่ภาครัฐและสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ในการควบคุมความประพฤติมากกว่าการคุ้มครอง สะท้อนให้เห็นว่าสังคมยังมีมุมมองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องไม่ดีที่ต้องควบคุมเอาไว้ ทำให้ประชาชนต้องเจอกับความไม่ปลอดภัยในเรื่องเพศ ซึ่งเกิดการต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะฐานความรู้ไม่เพียงพอ จนเกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยด้านต่างๆ ทั้งท้องก่อนวัย โรคทางเพศสัมพันธ์ การถูกกีดกันทางสังคมของผู้รักเพศเดียวกัน เช่น ไม่สามารถเข้าถึงบริการรัฐ การปิดโอกาสด้านอาชีพการงาน หรือ ความเสี่ยงติดเชื้อเอดส์ของผู้หญิงที่เป็นแม่บ้าน
“ยังมีข้อกฎหมายที่ควรปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เกิดความเสมอภาคในคนทุกกลุ่ม เช่น ร่างกฎหมายส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาค ระหว่างเพศ ฉบับประชาชน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เกิดการยื่นคำขอคุ้มครองสิทธิแทนได้ เพราะผู้ถูกละเมิดส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำเรื่องขอคุ้มครองสิทธิให้ตัวเองได้ หรือกลัวว่าจะถูกตำหนิซ้ำซ้อน และถูกเพ่งเล็งจนใช้ชีวิตตามปกติไม่ได้ รวมถึงการเยียวยา การชดเชยต่างๆแก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิ”น.ส.นัยนา กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552
0 ความคิดเห็น:
Post a Comment