เด็กและเยาวชนในปัจจุบันต้องเผชิญกับสภาพความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายด้านทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา เทคโนโลยีสมัยใหม่ ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของเด็กและเยาวชนรวมถึงคนในสังคมแห่งโลกของการเปลี่ยนแปลง
จากรายงานสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชน ประเด็นเรื่องพฤติกรรมเสี่ยงของวัยรุ่น (http://www.surin.m-society.go.th/database/Center_Data/%20children_action.htm, ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒) พบว่า พัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม และจริยธรรมของเด็กอายุระหว่าง ๑๐-๑๘ ปี มีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม และจริยธรรมต่ำใน ๕ อันดับ คือ ความคิดสร้างสรรค์ การควบคุมอารมณ์ การวิเคราะห์ การตระหนักรู้ในตนเอง และการแก้ปัญหาที่อาจมีผลต่อการปรับตัวและความสำเร็จของบุคคลในอนาคต พฤติกรรมด้านจริยธรรม และด้านการประหยัดอดออมจะลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้น เช่นเดียวกับพฤติกรรมจริยธรรมด้านความซื่อสัตย์และละอายเกรงกลัวต่อบาป พบว่า เด็กที่มีอายุมากขึ้นจะมีพฤติกรรมทางลบสูง นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กไทยมีแนวโน้มห่างเหินจากสถาบันศาสนามากขึ้น จากการสำรวจพบว่า เด็กวัยรุ่นร้อยละ ๔๕ ไม่ทำบุญตักบาตร และร้อยละ ๖๕ ไม่เคยไปฟังเทศน์เลยในรอบ ๑ เดือน แต่กลับเลือกใช้ชีวิตตามห้างสรรพสินค้า ดูภาพยนตร์ คุยโทรศัพท์ ส่งข้อความทางมือถือ หรือเล่นอินเตอร์เน็ทเพื่อการพูดคุยและความบันเทิงมากกว่า
ส่วนปัญหาการบริโภคของมึนเมาของเยาวชน พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการบริโภคสุราสูงเป็นอันดับ ๕ และจาการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในช่วงปี ๒๕๓๔-๒๕๓๖ วัยรุ่นโดยเฉพาะสตรีอายุ ๑๕-๑๙ ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราเพิ่มสูงสุด คือ เพิ่มขึ้นถึง ๕.๖ เท่า นอกจากนี้ยังพบสถานการณ์เด็กไทยกับเสรีภาพและการแสดงออกทางเพศ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะรุนแรงขึ้นในทุกวันนี้ โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันวัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกที่อายุเฉลี่ยประมาณ ๑๔-๑๘ ปี และมีแนวโน้มว่าอายุเฉลี่ยของการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกจะน้อยลงเรื่อย ๆ
โดยที่ ภักดี โพธิศิริ อธิบดีกรมอนามัย (อ้างถึงใน http://www.surin.m-society.go.th/database/%20Center_Data/children_action.htm, ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒) กล่าวว่า วัยรุ่นชายเกือบทั้งหมดมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ส่วนวัยรุ่นหญิงในเขตเมืองเกือบครึ่งหนึ่งมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ซึ่งมากกว่าวัยรุ่นหญิงในชนบท โดยการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นมักมีกับเพื่อนหรือคู่รักของตนมากกว่าการมีเพศสัมพันธ์กับหญิงขายบริการทางเพศ นอกจากนี้ยังพบว่า วัยรุ่นที่เคยมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกหรือครั้งสุดท้ายมีอัตราที่ค่อนข้างน้อย ซึ่งในกลุ่มนักเรียนที่มีเพศสัมพันธ์และมีการใช้ถุงยางอนามัยมีไม่เกินร้อยละ ๖๐ ส่วนวัยรุ่นหญิงที่เข้ามารับการรักษาภาวะแทรกซ้อนจากการแท้งเองและทำแท้งในโรงพยาบาลของรัฐตลอดปี ๒๕๔๒ พบว่าร้อยละ ๔๖.๘ เป็นหญิงอายุต่ำกว่า ๒๕ ปี และร้อยละ ๓๐.๐ เป็นวัยรุ่นอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี
เช่นเดียวกับโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด (Child Watch) ภาคกลาง ได้ดำเนินการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนภาคกลางทั้ง ๑๒ จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง พบว่า แนวโน้ม ทิศทาง และสภาวการณ์เด็กและเยาวชนในระดับจังหวัดมีแนวโน้มแย่ลงทุกด้าน ดังนี้
๑) ด้านสุขภาพอนามัย พบว่า ร้อยละของทารกที่มีน้ำหนักน้อยกว่า ๒,๕๐๐ กรัม มีแนวโน้มดีขึ้น แต่สภาวะการเฝ้าระวังการเจริญเติบโตของเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กวัยเรียน รวมทั้งความเสี่ยงด้านสุขภาพของเด็กและสุขภาพจิต โดยเฉพาะเรื่องความอ้วนและความเครียดมีแนวโน้มแย่ลง
๒) ด้านการศึกษา พบว่า โอกาสทางการศึกษาของเด็กลดลง ความพร้อมของจำนวนครูที่เหมาะสมกับการจัดการศึกษาทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาไม่เพียงพอ การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนอยู่ในระดับต่ำ สภาวะเสี่ยงของเด็กในระบบซึ่งพิจารณาจากการโดดเรียนเป็นประจำมีมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามร้อยละของนักเรียนที่ชอบไปโรงเรียนและรู้สึกปลอดภัยเวลาไปโรงเรียนมีน้อย
๓) ด้านสังคม พบว่า เด็กระดับประถมศึกษามีอัตราการไม่ได้อยู่กับพ่อแม่เพิ่มมากขึ้น อัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้น และอัตราเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า ๑๙ ปี ต่อประชากรแสนคนมาทำคลอดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าในพื้นที่มีพื้นที่เสี่ยงมากกว่าพื้นที่ดี การมีโอกาสเข้าไปเล่นเกมส์ในร้านอินเตอร์เน็ตได้ง่ายมาก อัตราเด็กที่กระทำความผิดที่ได้รับการส่งต่อเข้าสถานพินิจเพิ่มมากขึ้นและอัตราการขอเข้ารับการบำบัดยาเสพติดก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน (http://elibrary.trf.or.th/project%20_content.asp?PJID=RDG5040009,๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒)
0 ความคิดเห็น:
Post a Comment