Tuesday, September 29, 2009

สถานการณ์คนไร้สัญชาติ 2551 ตอน 2

ลักษณะปัญหาของคนไร้สัญชาติ
จากรายงานสถานการณ์ผู้ด้อยโอกาสและข้อเสนอในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาส กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551 ได้ระบุผลการศึกษา พบว่า ลักษณะปัญหาเกี่ยวกับคนไร้สัญชาติ คือ การไม่มีบัตร หรือขาดเอกสารแสดงตน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาเรื่องขาดสิทธิ และเข้าไม่ถึงสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐ รวมทั้งนำไปสู่การไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชน และสังคม ซึ่งประเด็นปัญหาและสถานการณ์ทั้งหมดล้วนเกี่ยวกับกฎหมาย ซึ่งแม้จะมีกฎหมายออกมารองรับ และแก้ไขปัญหาให้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เกิดขึ้นและเป็นจริง ปัญหา สถานการณ์ของกลุ่มคนไร้สัญชาติ สรุปได้ว่า ที่มาของปัญหาการไร้สัญชาติ เกิดจากขาดเอกสารแสดงตนเป็นปัญหาสถานะบุคคล จำแนกเป็น 1) ปัญหาเรื่องสิทธิ การถูกเอาเปรียบ ถูกหลอกลวง 2) ปัญหาการเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ เช่น การศึกษา ที่อยู่อาศัย/ที่ทำกิน สุขภาพอนามัย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รายได้ และการเข้าถึงบริการสังคมสงเคราะห์
ลำดับความสำคัญของปัญหาของคนไร้สัญชาติ
การแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น หน่วยงานภาครัฐ คือ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น โดยผลการศึกษา พบว่า ลำดับความสำคัญของปัญหาของคนไร้สัญชาติที่ต้องการให้รัฐช่วยแก้ปัญหา จำแนกตามภาคได้ คือ
1) ภาคเหนือ คือ (1) ปัญหาการขาดสถานะทางกฎหมาย (2) การถูกกดขี่และเลือกปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน
2) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ (1) ปัญหาแรงงานต่างชาติ (2) ข้อมูลข่าวสารเรื่องสิทธิของผู้ไร้สัญชาติ
3) ภาคใต้ คือ (1) การมีสิทธิและการรับรู้สิทธิ (2) สวัสดิการด้านต่าง ๆ (3) การยอมรับจากสังคม ครอบครัว ชุมชน
4) ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร คือ (1) ปัญหาการขาดสถานะทางกฎหมาย (2) การศึกษา (3) สุขภาพอนามัย (4) นโยบายพัฒนาผู้ด้อยโอกาสระดับประเทศ ที่มา: รายงานการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม จากรายงาน รายงานสถานการณ์ผู้ด้อยโอกาสและข้อเสนอในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาส กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551
อาสาเฝ้าระวังทางสังคม

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment