Wednesday, September 2, 2009

พฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทย 51 ตอน 3

รายงานพฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทย 2551 ศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทยในพื้นที่ 75 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร โดยสำรวจข้อมูลจากเด็กอายุ 13-18 ปี (ม.1-ม.6) จังหวัดละ 800 ตัวอย่าง ในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภออื่น ๆ จำนวนทั้งสิ้น 87,212 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2551 โดยศึกษาพฤติกรรมเด็ก 7 ด้าน คือ ด้านการเรียน ด้านการดูแลสุขภาพ ด้านความรุนแรงและความปลอดภัย ด้านสุขภาพใจ ด้านการบริโภค บุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแฮลกอฮอร์และสิ่งเสพติด ด้านความรักและพฤติกรรมทางเพศ และด้านการใช้เวลาว่างและการบันเทิง โดยมีรายงานผลการศึกษา ด้านพฤติกรรมด้านความรักและความสัมพันธ์ทางเพศ และพฤติกรรมการใช้เวลาว่างและการบันทเทิงโดยสรุป ดังนี้
พฤติกรรมด้านความรักและความสัมพันธ์ทางเพศ ผลการศึกษา พบว่า ความรู้สึกรักเพศเดียวกัน ร้อยละ 6.5 และระบุว่ายังไม่แน่ใจว่ารักเพศเดียวกัน ร้อยละ 5.7 ส่วนการถูกล่วงเกินทางเพศ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.7 ระบุว่าไม่เคยถูกล่วงเกินทางเพศ และร้อยละ 6.2 ระบุว่าเคยถูกล่วงเกินทางเพศ ในขณะที่ความสัมพันธ์กับคนรัก กลุ่มใหญ่ (ร้อยละ 19.7) ระบุว่า มีการจับมือกับคู่รัก ร้อยละ 3.9 ระบุว่า มีการกอดจูบกับคู่รัก และ ร้อยละ 3.9 ระบุว่า มีเพศสัมพันธ์กับคนรัก และการมีเพศสัมพันธ์กันคนที่ไม่ใช่คนรัก พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6 ระบุว่า เคยมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่ใช่คนรัก หรือแฟน โดยความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์เพียง 1-2 ครั้ง ร้อยละ 3.5 และมากกว่า 10 ครั้ง ร้อยละ 1.0 ตามลำดับ โดยที่ช่วงอายุของการเพศสัมพันธ์ครั้งแรก พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 1.3 ระบุว่า มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุ 15 ปี รองลงมา เมื่ออายุ 14, 16, 17, 18 ปี คิดเป็นร้อยละ 0.9, 0.8, 0.4, 0.1 ตามลำดับ
พฤติกรรมด้านการใช้เวลาว่างและการบันเทิง ผลการศึกษา พบว่า กิจกรรมในวันหยุดเรียนที่ทำมากที่สุด คือ ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ร้อยละ 55.1 รองลงมา ทำการบ้าน, ดูหนัง ภาพยนตร์, อยู่กับเพื่อน, อ่านหนังสือเรียน, อ่านหนังสือการ์ตูน, เล่นกิฬา, เล่นเกมส์, เล่นอินเตอร์เนต และอยู่คนเดียว คิดเป็นร้อยละ 45.7, 42.7, 40.3, 36.9, 34.4, 33.2, 29.6, 28.8 และ 25.1 ตามลำดับ การใช้คอมพิวเตอร์ของกลุ่มตัวอย่างจากมากไปน้อย ระบุว่า เพื่อการเรียนรู้ ค้นคว้า, ทำงาน ทำรายงาน, เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์, สื่อสารกับเพื่อนทางเนต (internet), ดูหนังฟังเพลง คิดเป็นร้อยละ 41.1, 18.0, 11.9, 9.7 และ 8.5 ตามลำดับ ส่วนการใช้เวลาพูดคุยโทรศัพท์ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า ร้อยละ 58.7 ใช้เวลาในการพูดคุยโทรศัพท์น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน และ ร้อยละ 23.4 ระบุว่า ใช้เวลาในการพูดคุยโทรศัพท์ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน
สรุปได้ว่าพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนไทย ปี 2551 ที่เป็นพฤติกรรมเสี่ยง กล่าวคือ พฤติกรรมด้านการเรียน มีการหนีเรียนโดยมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ที่ส่งผลให้เด็กเบื่อการเรียน ไม่สนใจเรียน เป็นสาเหตุหลัก ด้านพฤติกรรมด้านการดูแลสุขภาพ ส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าตนเองมีรูปร่างดีอยู่แล้ว แต่มีข้อสังเกตพบว่า เมื่อเด็กอายุมากขึ้นมักมีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานมากขึ้น พฤติกรรมความรุนแรงและความปลอดภัย ส่วนใหญ่มีความรู้สึกที่ปลอดภัยในชีวิตประจำวัน พฤติกรรมด้านสุขภาพใจ พบว่าเด็กมีความเครียด ซึมเศร้าอันมีสาเหตุจากการเรียนเป็นส่วนใหญ่ และยังพบว่าสาเหตุของการฆ่าตัวตายเกิดจากครอบครัวเป็นหลัก พฤติกรรมด้านการบริโภคบุหรี่ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีแนวโน้มอัตราการทดลอง เริ่มสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และสารเสพติด มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในขณะที่อายุที่เริ่มครั้งแรกน้อยลง ในขณะที่พฤติกรรมด้านความรักและความสัมพันธ์ทางเพศ มีแนวโน้มการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวันอันควรเพิ่มมากขึ้น และการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกมีอายุน้อยลง และมีอัตราการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนรักหรือแฟน มากขึ้นเช่นกัน และพฤติกรรมด้านการใช้เวลาว่างและการบันเทิง เด็กมีพฤติกรรมด้านการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เพิ่มมากขึ้น และใช้เวลากับสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ทั้งด้านที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ (ที่มาของข้อมูล: รายงานฉบับสมบูรณ์กรศึกษาพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กไทยในพื้นที่ 75 จังหวัด ปี 2551, ศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2551)
โดย.....อาสาเฝ้าระวังทางสังคม

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment