Thursday, September 3, 2009

พฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทย 51 ตอน 4

บทวิเคราะห์พฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทย จากรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทยในพื้นที่ 75 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร โดยสำรวจข้อมูลจากเด็กอายุ 13-18 ปี (ม.1-ม.6) จังหวัดละ 800 ตัวอย่าง ในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภออื่น ๆ จำนวนทั้งสิ้น 87,212 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2551 โดยศึกษาพฤติกรรมเด็ก 7 ด้าน คือ ด้านการเรียน ด้านการดูแลสุขภาพ ด้านความรุนแรงและความปลอดภัย ด้านสุขภาพใจ ด้านการบริโภค บุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแฮลกอฮอร์และสิ่งเสพติด ด้านความรักและพฤติกรรมทางเพศ และด้านการใช้เวลาว่างและการบันเทิง เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลผลการสำรวจในปี พ.ศ. 2548 กับปี พ.ศ. 2551 พบว่ามีประเด็นพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กไทย ที่มีพฤติกรรมที่ส่งผลในทางลบเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ที่สังคมควรต้องให้สนใจ และให้ความสำคัญ ดังนี้
1. สถิติแนวโน้มความสัมพันธ์ในครอบครัว พบว่า มีแนวโน้มสัดส่วนของความราบรื่น อบอุ่น น้อยลง (ร้อยละ 73.5 ต่อ 69.4) ถึงแม้ว่าจะมีสัดส่วนลดลงเพียงเล็กน้อย แต่ที่สำคัญความสัมพันธ์ในครอบครัว มีความสำคัญต่อรากฐานความสุขในครอบครัว และมีผลโดยตรงต่อความเข้มแข็งของสังคมโดยรวม ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ
2. การหนีเรียนของเด็กในวันเรียน มีสาเหตุหลักในการหนีเรียน มีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ คือ การเบื่อครู โดยมีสัดส่วนการเบื่อครูมีสถิติเพิ่มสูงขึ้น จากร้อยละ 8.0 ในปี พ.ศ. 2548 เป็นร้อยละ 11.1 ในปี พ.ศ. 2551 แสดงให้เห็นแนวโน้มความล้มเหลวในการเรียนการสอน ซึ่งอาจเกิดจากความไม่พร้อมในส่วนตัวของครูเอง เช่น ภาวะทางเศรษฐกิจ ภารกิจและปริมาณงานที่ไม่เหมาะสม ทำให้ครูขาดการพัฒนาวิธีการเรียนการสอน ให้เหมาะสมเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของกระแสต่าง ๆ ทางสังคมในปัจจุบัน
3. สถิติแนวโน้มการที่เด็กถูกทำร้ายจากบุคคลในครอบครัว จากการเปรียบเทียบสัดส่วน พบว่า มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2548 มีร้อยละ 13.4 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.5 ในปี พ.ศ. 2551
4. สถิติแนวโน้มความรู้สึกปลอดภัยโดยรวมในการดำเนินชีวิต พบว่า ผู้ให้ข้อมูลมีความรู้สึกปลอดภัยลดลง โดยที่ความปลอดภัยระดับมากลดลงจากร้อยละ 27.8 ในปี พ.ศ. 2548 เหลือร้อยละ 20.8 ในปี พ.ศ. 2551
5. สถิติแนวโน้มการคิดฆ่าตัวตายในรอบปีที่ผ่านมาของเด็กไทย พบว่า มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 12.7 ในปี พ.ศ. 2548 เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 14.8 ในปี พ.ศ. 2551 โดยพบว่าสาเหตุการคิดฆ่าตัวตายที่เป็นสาเหตุหลัก คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว (คิดเป็นร้อยละ 7.0 ในปี พ.ศ. 2551)
6. สถานการณ์การเริ่ม ทดลองสูบบุหรี่ในเด็กไทย พบว่า สถิติอัตราการเริ่มทดลองสูบบุหรี่ เพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มผู้ให้ข้อมูลทั้งเพศหญิง และชาย โดยในปี พ.ศ. 2548 เพศชาย มีสัดส่วน ร้อยละ 9.7 เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 11.9 ในปี พ.ศ. 2551 ในขณะที่เพศหญิง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.7ในปี พ.ศ. 2548 เป็นร้อยละ 3.0 ในปี พ.ศ. 2551 แสดงให้เห็นว่าค่านิยมในการทดลองการเริ่มสูบบุหรี่ เป็นค่านิยมของสังคมถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาไม่ถือเป็นปัญหา เพราะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
7. สถิติแนวโน้มการรักเพศเดียวกัน พบว่า มีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 7.1 ในปี พ.ศ. 2548 เป็นร้อยละ 6.5 ในปี พ.ศ. 2551 ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีการพยายามปกปิด ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว โดยเห็นได้ว่า ข้อมูลผู้ที่ไม่ตอบ และไม่แน่ใจ คิดเป็นร้อยละ 8.1 และ 5.7 ในปี พ.ศ. 2551
8. สถิติแนวโน้มการถูกล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 3.9 ในปี พ.ศ. 2548 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.2 ในปี พ.ศ. 2551 และยังพบว่า เพศชายมีสัดส่วนในการถูกล่วงละเมิดทางเพศมากกว่าเพศหญิง โดยในปี 2548 สัดส่วนเพศชายต่อเพศหญิง ร้อยละ 5.5 ต่อ 2.6 และ เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 7.1 ต่อ 5.7 ในปี 2551 ทั้งนี้อาจเป็นได้ว่าการล่วงละเมิดในเพศชายสังคมไม่ให้ความสำคัญมากนัก และผู้ล่วงละเมิดก็ใช้ช่องว่างทางทัศนคติของสังคมในการกระทำการล่วงละเมิดทางเพศในเพศชาย
9. สถิติแนวโน้มระดับความสัมพันธ์กับคนรัก ในระดับการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นสำคัญ มีสถิติแนวโน้มสูงขึ้น จากร้อยละ 2.4 ในปี 2548 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.9 ในปี 2551 ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรถือเป็นประเด็นปัญหาทางสังคมที่สำคัญปัญหาหนึ่ง ซึ่งอาจเปลี่ยนค่านิยมจากการรักนวลสงวนตัวในสตรีไทย เป็นค่านิยมแบบฟรีเซ็ก (Free Sex) แบบตะวันตกมากขึ้น
อาสาเฝ้าระวังทางสังคม

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment