พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผอ.สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการที่เด็กและเยาวชนไทยมีการแสดงพฤติกรรมรุนแรง เช่น การ ตบ ตี ชก ต่อยกัน และถ่ายคลิปวิดีโอเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตนั้น ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้หายไปจากสังคมไทยและเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุของเกิดจากปัจจัยหลัก 2 ส่วน คือ 1.เป็นเพราะเด็กขาดที่พึ่งขาดคนปรึกษาในการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง จึงต้องการทำอะไรบางอย่างเพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของตนเองตามธรรมชาติของวัยรุ่น และ 2.เลือกใช้กำลัง ความรุนแรง ตบตี เพราะคิดว่าเป็นการระบายอารมณ์ โดยพฤติกรรมนั้นจะมีความน่าสนใจในสังคม ทำแล้วเป็นข่าวและจะมีคนนำไปเลียนแบบพฤติกรรมนั้นต่อไป
“ที่น่าเป็นห่วงคือ การที่เด็กเกิดความรู้สึกว่าการแสดงออกด้วยความรุนแรง และนำไปถ่ายคลิปเผยแพร่ในจังหวัดตนเอง จะเป็นการประจานฝ่ายตรงข้าม และยิ่งได้ลงข่าวหนังสือพิมพ์ หรือ โทรทัศน์ ยิ่งเป็นความสะใจ และเป็นผู้มีอำนาจในพื้นที่นั้นๆ อย่างไรก็ตาม คิดว่าวันนี้ประเทศไทยมีการพูดถึงเรื่องนี้อยู่มาก แต่ยังไม่สามารถหาทางออกของการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ดังนั้น ขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น คือ การที่ภาครัฐเพิ่มพื้นที่ที่ดีและสร้างสรรค์ให้เด็กมากขึ้น ที่สำคัญครอบครัวต้องเปิดใจรับฟังปัญหาทุกเรื่องที่เกิดขึ้นกับของลูกหลานของตนเอง” ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าว
น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เรื่องตบตีกันในกลุ่มเด็กวัยรุ่น วันนี้เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่สื่อนำเสนอภาพความรุนแรง การใช้คำหยาบ ผ่านทางละคร ภาพยนตร์ หรือเรียกได้ว่าสื่อเสี่ยง ทำให้เด็กที่ขาดวุฒิภาวะ ขาดความรู้ และประสบการณ์ รวมถึงครอบครัวไม่อบอุ่น เมื่อมีปัญหาทำให้ตนเองขาดที่พึ่ง เมื่อถูกเพื่อนชักจูงไปในทางที่ผิด ก็ทำให้เกิดการเลียนแบบการกระทำที่รุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม ตนอยากเสนอให้รัฐบาลเอาจริงกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะการรณรงค์ให้ภาคสังคมผลิตสื่อที่ดีและสร้างสรรค์ออกสู่สังคม เพื่อลดพื้นที่สื่อเสี่ยง และสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่เด็ก ก็จะช่วยลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กและเยาวชนได้ทาง
ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์ 5 กุมภาพันธ์ 2553, ภาพจากอินเตอร์เน็ต
0 ความคิดเห็น:
Post a Comment