Wednesday, September 1, 2010

พม. ชูยุทธศาสตร์ “กัน-แก้ แม่วัยเยาว์”

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ชูยุทธศาสตร์ “กัน-แก้ แม่วัยเยาว์” เตรียมผลักดันปัญหาแม่วัยเยาว์ เป็นวาระแห่งชาติ เสนอ ๖ กระทรวงเป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมแก้ไขปัญหาท้องก่อนวัย
26 สิงหาคม 2553 เวลา ๐๙.๓๐ น. นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในการประชุมและนำเสนอข้อมูลสภาพปัญหาแม่วัยเยาว์ ตามโครงการสำรวจสภาพปัญหาแม่วัยเยาว์ โดยศูนย์เรียนรู้เชิงปฎิบัติการเพื่อการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (ศรพส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมนำเสนอมาตรการและนโยบายเพื่อการแก้ไขและป้องกันปัญหาแม่วัยเยาว์ ณ ห้องบุษราคัมโรงแรมอินทรา รีเจ้นท์ กรุงเทพฯ
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร หรือที่เรียกว่า“แม่วัยเยาว์” ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มว่าบุตรของแม่วัยเยาว์มีโอกาสถูกทำร้ายตั้งแต่อยู่ในครรภ์เพื่อให้แท้งถึง ๑๖.๘ % ซึ่งเป็นกสุ่มเสี่ยงที่เกิดมาอาจจะพิการหรือไม่สมประกอบ อีกทั้งเมื่อคลอดแล้วก็จะเผชิญปัญหาการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม โดยมีโอกาสที่จะได้รับวัคซีนไม่ครบถึง ๑๗.๔% รวมทั้งขาดแคลนเรื่องค่าใช้จ่าย เนื่องจากไม่มีรายได้ และที่สำคัญมีแนวโน้มว่าแม่วัยเยาว์ต้องเผชิญปัญหาอย่างโดดเดี่ยว เพราะพ่อเด็กไม่รับผิดชอบถึง ๔๔% จึงเป็นปัญหาที่ต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้เตรียมผลักดันเรื่องนี้ ให้เป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “กัน-แก้ แม่วัยเยาว์”และกำหนดเจ้าภาพร่วมระหว่าง ๖ กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม รวมทั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มาขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหา
นายอิสสระ กล่าวว่า เป้าหมายของยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ การลดจำนวนคลอดของแม่อายุน้อยกว่า ๑๘ ปี ลง ๕๐% ภายในปี ๒๕๖๐ และร้อยละ ๘๐ ของพ่อและแม่วัยเยาว์ได้รับการพัฒนาให้มีรายได้เลี้ยงตนเองได้ บุตรของแม่วัยเยาว์ได้รับการดูแลตามเกณฑ์มาตรฐานเหมือนสุขภาวะเด็กปกติ รวมทั้งมีการเฝ้าระวังและคุ้มครองเด็กที่เกิดจากแม่วัยเยาว์เป็นกรณีพิเศษ ผ่านการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ อย่างเร่งด่วน เช่น การขยายบทบาทการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ ให้สามารถคุ้มครองและครอบคลุมปัญหาพฤติกรรมต่างๆของเด็กและเยาวชนมากขึ้นโดยเฉพาะปัญหาแม่วัยเยาว์ การสร้างการรับรู้ เข้าใจและเฝ้าระวังปัญหาแม่วัยเยาว์และการล่วงละเมิดเด็ก โดยผ่านกลไกต่างๆ ในชุมชน เช่น แกนนำ อาสาสมัครชุมชน เครือข่ายภาครัฐในระดับตำบล การผลักดันให้มีศูนย์บริการวางแผนครอบครัว การจัดโครงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว เพศศึกษา รวมทั้งพฤติกรรมเสี่ยงในกลุ่มวัยรุ่น โดยจัดเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรทางอาชีพและวิถีชุมชน ดึงสภาเด็กและเยาวชนเข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งทุกองค์กรท้องถิ่นในพื้นที่รับผิดชอบ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างมีระบบและครอบคลุม.
ที่มา: http://www.m-society.go.th

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment