ผลสำรวจ “พนันบอล” ภัยมืดเรื้อรังมอมเมาเยาวชน พบเด็กไทยตั้งตารอเสี่ยงโชคบอลโลก
ใกล้ถึงวันที่ทุกคนรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ กับ “มหกรรมฟุตบอลโลก 2010” ที่จะระเบิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนนี้ พิเศษตรงที่เจ้าภาพปีนี้เป็นประเทศจากทวีปแอฟริกาที่จัดเป็นครั้งแรกเสียด้วย กีฬา Match สำคัญที่หนึ่งปีมีครั้งเดียวอย่างนี้ แน่นอนว่า ไม่เฉพาะหนุ่มๆ ที่ยอมนอนดึก เพื่อรอลุ้นความมันส์อยู่หน้าจอทีวี แต่ยังลุกลามไปถึงน้อง ๆ เยาวชนวัยเรียนที่ยอมอดตาหลับขับตานอนด้วย เรียกว่ากีฬานี้เป็นเสน่ห์ล้ำลึกของแฟนพันธุ์แท้โดยเฉพาะ แต่สิ่งที่แอบแฝงมาพร้อมกันเสมอ คงไม่พ้นพฤติกรรม “การพนันบอล” ที่กลายเป็นปัญหาซ้ำซากที่อยู่คู่กับสังคมมาโดยตลอด บ่อเกิดของปัญหาอาชญากรรมทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการลักเล็กขโมยน้อยหรือยาเสพติด ฯลฯ ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพยายามหาทางแก้ไข และรณรงค์เพื่อให้เยาวชนไทยร่วมใจ “ไม่เล่นพนันบอล” ตลอดมา
หากเพราะ“การพนันบอล” เป็นภัยมืดที่มอมเมาและสร้างปัญหาที่เรื้อรังให้กับสังคมไทยมายาวนานและปรากฏแทบทุกเทศกาลฟุตบอลโลกเสมอ ดังนั้น ปัญญาสมาพันธ์ เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย โดยความสนับสนุนของ บมจ. ซีพี ออลล์ จึงทำการสำรวจเกี่ยวกับผลกระทบจากการเล่นฟุตบอลของเยาวชนต่อสังคมไทยขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบข้อมูลที่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้อย่างชัดเจนเพื่อจะได้ตระหนักและมีแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
โดยผลสำรวจที่น่าสนใจนี้ ได้ดึงกลุ่มเป้าหมายเยาวชนตั้งแต่ชั้นม.ต้นถึงอุดมศึกษาจำนวน 4,461 คน ใน 25 จังหวัดทั่วประเทศ มาสอบถามแล้วพบว่า กลุ่มนักเล่นพนันบอลส่วนใหญ่เริ่มเล่นตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มีวงเงินที่เล่นพนันโดยเฉลี่ยครั้งละ 100-500 บาท พื้นเพส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สิ่งจูงใจให้เยาวชนไทยเล่นพนันบอลคือ อยากได้เงิน เมื่อได้รางวัลแล้วจะนำไปใช้ในการกินเที่ยวกับเพื่อนฝูง มีเยาวชนร้อยละ 21.82 ที่เคยเล่นพนันบอลแล้วบอกว่าเคยเป็นหนี้เป็นนักศึกษาชั้นอนุปริญญาตรีส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาและสถานศึกษาอยู่ในภาคใต้ ร้อยละ 43.33 จะใช้หนี้พนันบอลโดยยืมเงินจากเพื่อน โต๊ะบอลวิธีการทวงหนี้โดยการเจรจารองลงมาคือการข่มขู่ และสุดท้ายรายการแข่งขันชิงถ้วยที่เยาวชนฮิตเล่นพนันอันดับหนึ่งคือ พรีเมียร์ลีกของอังกฤษ
แม้จะตะลึงไม่น้อยกับผลสำรวจที่ปรากฎออกมา อย่างไรก็ตาม ยังมีเยาวชนส่วนใหญ่ใฝ่ดีที่ที่ไม่เห็นด้วยกับการเล่นพนันบอล โดยพวกเขาบอกว่า ไม่ยอมรับว่าการพนันบอลเป็นเรื่องปกติและไม่ได้ทำให้ดูทันสมัย กลุ่มเยาวชนเหล่านี้ไม่เห็นด้วยกับการเปิดให้มีการเล่นพนันบอลอย่างถูกกฎหมาย เพราะเห็นว่าจะทำให้เกิดหนี้นอกระบบมากที่สุด รวมทั้งปัญหาการลักขโมย ชิงทรัพย์ ฯลฯ ที่จะส่งผลกระทบถึงการเรียน เมื่อลองสอบถามกลุ่มเยาวชนตัวอย่างที่ปัจจุบันเลิกเล่นพนันบอลไปแล้ว ส่วนใหญ่บอกเหตุผลตรงกันว่า เพราะได้รับผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับที่เสีย ตลอดจนไม่มีเงินเล่น กลัวติด กลัวพ่อแม่เสียใจและกลัวถูกจับ เป็นต้น
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผลสำรวจในครั้งนี้พบว่า ในช่วงฤดูการแข่งขันบอลโลกของปีนี้คือระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน - 11 กรกฎาคม 2553 มีเยาวชนร้อยละ 17.66 บอกว่าจะเล่นพนันบอลครั้งนี้ด้วย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอนุปริญญาตรี ข้อมูลที่ได้ฟังมาทำให้รู้สึกว่า “การพนัน”เป็นปัญหาซ้ำซากที่คุกคามสู่เยาวชนจนยากแก้ไขแล้วหรือ และจะมีวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างไรต่อไป??
แต่เชื่อว่า ปัญหาทุกอย่างมีทางออก ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งครอบครัว สถาบันการศึกษาและสังคม ที่ต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังและจริงใจ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา แม้กระทั่งสื่อมวลชนเองก็ตาม ก็มีบทบาทที่จะช่วยกันรณรงค์ให้ลดละเลิกการพนันบอลได้อีกทางหนึ่ง ไม่แน่ว่าปัญหาที่คิดว่ายากเกินแก้ไขนี้ อาจสำเร็จด้วยความร่วมมือและความใส่ใจจากสังคมจริง ๆ
มีอดีตนักพนันบอลผู้กลับใจผู้หนึ่ง ฝากอุทาหรณ์เตือนสติเยาวชนที่กำลังเสพติดการพนันด้วยว่า “การพนันไม่ใช่สิ่งที่ดี ไม่ได้ทำให้รวยขึ้น นอกจากจะทำให้จนลงและหมดเนื้อหมดตัว ถ้าอยากมีชีวิตที่ดี ปลอดภัยและมีความสุขอยากให้ดูบอลเพื่อความสนุกและความบันเทิงจะดีกว่า ถ้าชอบทีมไหนก็เชียร์ แต่อย่าเล่น ถ้าอยากได้เงินก็ให้มาจากการทำงานและความขยันของเรา เพราะสุดท้ายการพนันจะไม่ให้อะไรเลย นอกจากจะเสียทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่”
ที่มา ไอเดียเวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์,
0 ความคิดเห็น:
Post a Comment