Sunday, October 17, 2010

สถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทย 2010

สถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่มีความรุนแรงของสถานการณ์การค้ามนุษย์มีหลากหลายรูปแบบทั้งด้านแรงงาน การค้าประเวณีและการแสวงหาประโยชน์จากการเอาคนมาขอทานจากรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2553 กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (US.Departmest of state , 15 สิงหาคม 2553 อ้างถึงในรสสุคนธ์ ทาริยะ , 2553 : 41-43) ได้ระบุว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมาย เรียกว่า Trafficking Victims Protection Act’s (TVPA) โดยแบ่งประเทศในโลกนี้เป็น 3 ลำดับชั้น (Tier) ตามลักษณะของการตอบสนองต่อการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ คือ

ลำดับ 1 (Tier 1) หมายถึง กลุ่มประเทศที่มีการตอบสนองอย่างเต็มที่ และเข้าถึงมาตรฐานขั้นต่ำของการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองเหยื่อของการค้ามนุษย์ (TVPA) (Countries whose governments fully comply with the trafficking victims Protection Act’s (TVPA) minimum standards) เช่น ประเทศสหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ฯลฯ

ลำดับ 2 (Tier 2) หมายถึง ประเทศที่รัฐบาลยังไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายคุ้มครอง เหยื่อของการค้ามนุษย์ (TVPA) แต่มีความพยายามอย่างมีนัยยะสำคัญที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านั้น เช่นอัฟกานิสถาน ลาว โรมาเนีย แมกซิโก บราซิล เป็นต้น

ลำดับ 3 (Tier 3) หมายถึง กลุ่มประเทศที่รัฐบาลไม่ยอมรับที่จะปฏิบัติตามมาฐานขั้นต่ำ และไม่มีการแสดงให้ถึงความพยายามอย่างมีนัยยะสำคัญที่จะทำด้วย เช่น พม่า มาเลเซีย เกาหลีเหนือ เป็นต้น สถานการณ์ด้านการค้ามนุษย์ ในประเทศไทย เคยถูกจัดลำดับให้อยู่ในลำดับที่ 2 ต่อมาถูกจัดในลำดับที่ 3 เป็นลำดับต่ำสุด ซึ่งหมายความว่าการทำงานด้านนี้ ไม่มีความคืบหน้าเท่าใดนักไม่มีความสามารถในการดำเนินคดีกับผู้ค้ามนุษย์ได้ หรือไม่จริงที่จะแก้ปัญหา ด้วยเหตุดังนี้ คือ (US. Department of state , 15 สิงหาคม 2553)

1) ประเทศไทย มี 3 สถานะ คือ เป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่าน สำคัญการค้ามนุษย์ที่มีทั้งผู้ชายผู้หญิง และเด็ก ประเทศต้นทาง คือ นำเด็ก และหญิง จากในประเทศไทยส่งออกไปยังประเทศอื่นทั้งในภูมิภาคเดียวกัน และนอกภูมิภาค ประเทศปลายทาง คือ รับเด็ก และหญิง จากประเทศอื่นเข้ามาค้าบริการทางเพศ ในประเทศไทย รวมทั้งใช้แรงงานโดยกดขี่ทารุณ บังคับขู่เข็ญ ให้เป็นขอทาน หรือกระทำการอื่นที่ไร้คุณธรรม ประเทศทางผ่าน คือ ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านโดยนำเข้ามา แล้วส่งออกต่อไปยังประเทศอื่น (อาทิ ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น บาห์เรน ไต้หวัน ทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือ) เพื่อการใช้ประโยชน์ทางเพศ

2)รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเต็มที่ในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ดีรัฐบาลกำลังดำเนินความพยายามที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลยังคงนำพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์มาบังคับใช้อย่างต่อเนื่องและยังจัดฝึกอบรมให้ความรู้ รวมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ เพิ่มจิตสำนึกเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตามแม้มีการดำเนินความพยายามที่สำคัญ ดังกล่าวแต่ความหมายโดยรวมของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานต่างด้าว และแรงงานไทยและการบังคับค้าประเวณียังไม่มีความคืบหน้าอย่างแน่นอน

3)ความพยายามของรัฐบาลในการคัดแยกเหยื่อค้ามนุษย์ค่อนข้างจำกัด ยังมีรายงานและการยืนยันว่ามีเหยื่อค้ามนุษย์จำนวนมากที่ถูกแสวงหาประโยชน์ในไทย และยังคงมีคนไทยที่ถูกแสวงหาประโยชน์ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

4)หน่วยงานในการบังคับใช้กฎหมายของไทยยังไม่มีการทุจริต คอร์รัปชั่นอยู่ที่ทั่วไป แต่รัฐบาลกลับไม่ได้มีการรายงานการสอบสวนคดี เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ในขณะที่ปัญหา การค้ามนุษย์ในไทยมีขอบข่ายกว้างขวางและเป็นปัญหาที่รุนแรง การพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีค้ามนุษย์ เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศ และบังคับใช้แรงงานแต่เพียงจำนวนเล็กน้อย และมีการคัดแยก เหยื่อค้ามนุษย์เพียงไม่กี่รายในประชากร กลุ่มเสี่ยง

สถานะของประเทศไทยเป็นทั้งประเทศต้นทางทางผ่าน และปลายทาง ประกอบกับประเทศไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้ผู้ย้ายถิ่น เข้ามาแสวงหาโอกาส และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งผลให้ผู้ย้ายถิ่นส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย ผู้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในประเทศไทยมีทั้งถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฎหมายมีทั่งสิ้น ประมาณ 1.2-2.3 ล้านคน ส่วนใหญ่เข้ามาเพื่อทำงานก่อสร้าง ประมง และธุรกิจค้าประเวณี นอกจากการย้ายถิ่นระหว่างประเทศแล้ว ประเทศไทยยังมีการย้ายถิ่นจากจังหวัดที่ขาดแคลนไปสู่จังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประมาณ 1 ล้านคน เป็นชนกลุ่มน้อย โดยกว่าครึ่งไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งกลุ่มนี้ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในปี พ.ศ.2547 กระทรวงมหาดไทยได้รับการลงทะเบียนจากผู้ย้ายถิ่นของกัมพูชา ลาว พม่า ทั้งสิ้น จำนวน 1.28 ล้านคน และโดยมากกว่า 930,000 คน เป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้ย้ายถิ่นมากถึงร้อยละ 12 ของประชากร บริเวณชายแดนฝั่งประเทศไทยเสี่ยงต่อการตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ , 8 สิงหาคม 2553)

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment