Thursday, June 3, 2010

พลังเด็กและเยาวชนสร้างสังคม

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาท้าทายหลายด้านที่จะกลายเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางการพัฒนาในระยะยาว โดยเฉพาะปัญหาคุณภาพคน ทั้งการขาดความรู้ การขาดคุณธรรมจริยธรรม และการยึดประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง รวมทั้งการขาดความเป็นธรรมในสังคมที่นำไปสู่ความขัดแย้งและแตกแยก ขณะเดียวกัน ก็มีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับภาวะ ขาดแคลนกำลังคนในวัยทำงานจากการที่โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและผลิตภาพแรงงานยังต่ำ กอปรกับมีเงื่อนไขภายนอกที่จะเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพคนได้ หากขาดการบริหารจัดการที่เหมาะสม อาทิ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการหลั่งไหลขององค์ความรู้และข้อมูลข่าวสาร การเลื่อนไหลทางวัฒนธรรม และการแข่งขันที่รุนแรง
ในขณะที่ต้นทุนชีวิตของคนรุ่นใหม่ทั้งพลังตัวตน พลังสร้างปัญญา พลังครอบครัว พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน ก็อ่อนแอลง จึงส่งผลให้ขาดพื้นฐานที่ดีที่จะเป็นปัจจัยที่หล่อหลอมให้เกิดการพัฒนาทางด้านจิตใจ สังคม สติปัญญา ให้สามารถ ดำรงชีพอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว ดังนั้น หลักคิดและแนวทางสำคัญประการหนึ่ง ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนในทุกด้านคือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกช่วงวัยให้เหมาะสม และการเสริมสร้างพลังประชาชนในทุกกลุ่มวัยให้เป็นพลังบวกและสร้างสรรค์ในการสร้างชาติ และความหวังสำคัญประการหนึ่งของประเทศก็คือ การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้กลายเป็นพลังบวกและสร้างสรรค์ที่เข้ามารับช่วงการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต และเป็นการพัฒนาที่ต้องกำหนดให้เป็นวาระเร่งด่วนเสียตั้งแต่วันนี้ ปัจจัยประคับประคองการก้าวย่างของเด็กและเยาวชน
ผลการศึกษาของ ดร.จุฬาภรณ์ มาเสถียรวงศ์ พบปรากฏการณ์เด็ก 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็กเสีย เด็กเสี่ยง เด็กใส โดยแรงขับที่ สำคัญเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว พื้นที่สื่อ และการศึกษา โดยเฉพาะพื้นที่สื่อหรือบนไซเบอร์สเปซซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเอง ในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวกำลังกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพเด็กและ เยาวชน อาทิ พื้นที่สื่อเต็มไปด้วยภาพและโลกเสมือนจริงที่มอมเมาเด็กและเยาวชน ครอบครัวมีความแตกแยกมากขึ้น ในขณะที่ โรงเรียนและชุมชนแวดล้อมด้วยร้านเหล้า ร้านเกม แหล่งอบายมุข เหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
นอกจากนั้นสถานการณ์ภายในประเทศในปัจจุบันที่มีการแก้ปัญหาโดยการใช้ความรุนแรง และประชาชนได้รับรู้ข่าวสารมากมายซึ่งขาดการกลั่นกรองที่เหมาะสมโดยเฉพาะจากสื่อสังคมและเครือข่ายสังคม (Social medias และ Social networks) จะมีอิทธิพลต่อจิตใจและพฤติกรรมเด็กอย่างมาก ส่งผลให้เกิดเด็กสายพันธุ์ใหม่ที่ก้าวร้าว มีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ไม่เคารพกฎหมายและกติกาสังคม ขาดความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ ขาดความมีจิตอาสา ขาดความไว้วางใจกัน และมองโลกในแง่ร้าย รวมทั้งมีเหตุปัจจัยและพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้ชีวิตและการใช้เวลาของเยาวชนเอง ได้แก่ ครอบครัวขาดความรักความอบอุ่น มีความรักหรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร สื่ออินเทอร์เน็ต การเข้าถึงอบายมุขโดยง่าย และการขาดแบบอย่างที่ดี ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเรียนรู้ อารมณ์และจิตใจ
รายงานสภาวะการณ์เด็กและเยาวชน (Child Watch 2551) พบว่า ลักษณะการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชนนั้นมีพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้น อาทิ มีการใช้เวลากับสื่อต่าง ๆ กว่า 6-7 ชั่วโมงต่อวัน โดยหมดไปกับการดูโทรทัศน์ราว 3 ชั่วโมง อินเทอร์เน็ตกว่า 2 ชั่วโมงและโทรศัพท์ กว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งจากข้อมูลของสถาบันวิจัยซีเอ็มอาร์ มาร์เก็ตติ้ง รีเสิร์ท พบว่า การใช้อินเทอร์เน็ตในร้านบริการเพื่อเล่นเกม ร้อยละ 86 สนทนาออนไลน์ร้อยละ 49 ส่งอีเมล์ร้อยละ 44 ใช้เพื่อการศึกษาเพียงร้อยละ 14 และมีเด็กเล่นเกมออนไลน์ คอมพิวเตอร์ และอื่น ๆ เป็นประจำ ร้อยละ 20 ใช้เวลาเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง ทำให้เกิดปัญหาเด็กติดเกม การดูเว็บ/คลิปโป๊ ทัศนคติและการเลียนแบบพฤติกรรมทั้งในเรื่องการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยและวัตถุนิยมมากขึ้น การมีเพศสัมพันธ์เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และการติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ นอกจากนี้ ยังพบว่า เด็กประมาณร้อยละ 30 มีอาการเครียดและปัญหาทางอารมณ์ และ 37 คน ในแสนคนพยายามฆ่าตัวตาย โดยกลุ่มอายุ 19-25 ปี มีถึง 75 คนในแสนคน รวมทั้งมีพฤติกรรมก้าวร้าว ตั้งแก๊งแข่งรถมอเตอร์ไซด์ ใช้ความรุนแรง ทะเลาะวิวาท ดื่มสุราและเสพยาเสพติด มีปัญหาการออกจากโรงเรียนกลางคัน ตลอดจนผลสัมฤทธิ์การศึกษาต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้เยาวชนซึ่งเป็นกำลังแรงงานของชาติในอนาคตขาดคุณภาพทั้งทักษะความรู้ ขาดวินัย และมีพฤติกรรมรุนแรง รวมทั้งขาดจริยธรรมคุณธรรมได้
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตและความเสี่ยงยังมีกลุ่มเด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่งที่มีต้นทุนชีวิตสูงและมีพฤติกรรมเชิงบวกที่จะเป็นพลังเพื่อการพัฒนาที่สำคัญในอนาคต หากมีมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รายงานสถานการณ์เด็กและเยาวชนพบว่า มีเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมเชิงบวกเป็นจำนวนมาก โดยกิจกรรมที่ทำประจำ ได้แก่ ช่วยทำงานบ้าน เป็นอาสาสมัครทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ อ่านหนังสือเป็นงานอดิเรก รวมทั้งการใส่บาตรและไปวัด
ที่มา: รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2553,สำ นักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ : 31 พฤษภาคม 2553

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment