Sunday, December 4, 2011

การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยควรและการตั้งครรภ์ของวัยรุ่น 2554

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รายงานผลการศึกษา เรื่อง แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการสมรส และการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในจังหวัดกำแพงเพชร โดยได้ศึกษากลุ่มตัวอย่าง (1) สตรีที่มีอายุระหว่าง 10-19 ปี ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดกำแพงเพชรและไม่ได้รับการวินิจฉัยว่ากำลังตั้งครรภ์ จำนวน 470 คน (2) สตรีที่มีอายุระหว่าง 10-19 ปี และคลอดบุตรในจังหวัดกำแพงเพชร ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนพฤษภาคม 2554 จำนวน 454 คน คิดเป็นร้อยละ 47.05 จากประชากรทั้งหมด และ (3) บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการสมรส และการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นด้วยวิธีการเจาะจง ในกลุ่มวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ในพื้นที่ ครอบครัววัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ สภาเด็กและเยาวชน อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ศูนย์พัฒนาครอบครัว (ศพค.) ผู้นำชุมชน ผู้แทนจากสถาบันการศึกษาทุกระดับ ผู้แทนจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตัวแทนทางศาสนา ตัวแทนจากภาคเอกชน สื่อมวลชน ฯลฯ จำนวน 73 คน โดยมีผลการศึกษา ดังนี้


1. ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรสและการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในจังหวัดกำแพงเพชร วัยรุ่นที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ (ร้อยละ 78.5) ในขณะที่มีวัยรุ่นส่วนหนึ่ง (ร้อยละ 19.8) ที่เคยมีเพศสัมพันธ์ โดยกลุ่มที่ระบุว่าเคยมีเพศสัมพันธ์ ระบุว่า ส่วนใหญ่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุ 15-17 ปี กับแฟน/คนรัก (ร้อยละ 64.4) โดยระบุสาเหตุที่สำคัญของการมีเพศสัมพันธ์ 3 ลำดับแรก พบว่า ส่วนใหญ่ต้องการแสดงความจริงใจต่อคนรัก (ร้อยละ 38.7) รองลงมาระบุว่าสถานการณ์/บรรยากาศพาไป (ร้อยละ 30.1) และมีสิ่งยั่วยวนทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศ (ร้อยละ 30.1) ตามลำดับ และสถานที่ที่มีเพศสัมพันธ์บ่อยที่สุด กลุ่มใหญ่ระบุว่าเป็นบ้านของแฟน/คนรัก (ร้อยละ 48.4)

ซึ่งในการมีเพศสัมพันธ์พบว่าส่วนใหญ่ใช้วิธีการคุมกำเนิดทุกครั้ง (ร้อยละ 46.2) โดยวิธีการคุมกำเนิดที่ใช้มากที่สุด คือ ยาเม็ดคุมกำเนิด (ร้อยละ 32.9) รองลงมาเป็นสวมถุงยางอนามัย (ร้อยละ 30.4) และการหลั่งภายนอก (ร้อยละ 21.5) ตามลำดับ

สำหรับวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ในจังหวัดกำแพงเพชร ผลการศึกษามีทั้งกลุ่มที่ตั้งครรภ์ในขณะที่กำลังศึกษา และตั้งครรภ์หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ดังนี้

1.1 ผลการศึกษากลุ่มวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ในขณะที่กำลังศึกษา ผลการศึกษา พบว่า ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 16-18 ปี (ร้อยละ 72.6) และกำลังศึกษาในอยู่ในระดับมัธยมศึกษา (ร้อยละ 45.2) ผลการศึกษาสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การตั้งครรภ์ พบว่า การเกิดความผิดพลาดในการคุมกำเนิด (ร้อยละ 24.7) และการไม่ได้ป้องกัน/คุมกำเนิด (ร้อยละ 23.3) ผลการศึกษาความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตร พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตรระดับปานกลางและไม่มีความพร้อมเลยในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 28.8 และ 26.0 ตามลำดับ) ผลการศึกษาความสัมพันธ์กับสามี พบว่า มีสัมพันธภาพกับสามีในระดับดีถึงดีมาก (ร้อยละ 73.9) โดยผลกาข้อมูลพื้นฐานศึกษาของสามี พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่สามีกำลังศึกษา (ร้อยละ 28.8) ส่วนใหญ่สามีจะไม่มีรายได้ (ร้อยละ 31.5) ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่สามีจบการศึกษาแล้ว ส่วนใหญ่สามีจะจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ร้อยละ 31.5) ประกอบอาชีพเกษตรกรรม (ร้อยละ 20.5) มีรายได้ประมาณ 3,001- 5,000 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 23.3) สำหรับความต้องการความช่วยเหลือ พบว่า สิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด คือ การจัดหาอาชีพ (ร้อยละ 24.7) ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตร (ร้อยละ 23.3) และเงินทุนประกอบอาชีพ (ร้อยละ 20.5)

1.2 ผลการศึกษาวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว ผลการศึกษา พบว่า ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 17-19 ปี (ร้อยละ 69.6) จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 54.1) และประถมศึกษา (ร้อยละ 24.4) โดยส่วนใหญ่มีอาชีพแม่บ้าน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ (ร้อยละ 57.0) และไม่มีรายได้ (ร้อยละ 46.5) ต้องอาศัยรายได้จากคู่ครอง/สามี สถานภาพสมรส พบว่า แต่งงานโดยไม่ได้จดทะเบียนมากที่สุด (ร้อยละ 68.8) และอยู่อาศัยกับคู่รัก/สามี (ร้อยละ 44.9)

ส่วนใหญ่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุ 15-17 ปี (ร้อยละ 59.8) กับแฟน/คนรัก สาเหตุที่สำคัญของการมีเพศสัมพันธ์ ได้แก่ แสดงความจริงใจต่อคนรักมากที่สุด (ร้อยละ 36.0) รองลงมาเต็มใจเพราะต้องการมีบุตร (ร้อยละ 25.7) และไว้ใจเพศตรงข้ามมากเกินไป (ร้อยละ 21.0) และระบุว่าสถานที่ที่มีเพศสัมพันธ์บ่อยที่สุด คือ บ้านของแฟน/คนรัก (ร้อยละ 51.2)

การคุมกำเนิด พบว่า ส่วนใหญ่ใช้วิธีการคุมกำเนิดเป็นบางครั้ง (ร้อยละ 58.5) โดยวิธีการคุมกำเนิดที่ใช้มากที่สุด คือ ยาเม็ดคุมกำเนิด (ร้อยละ 32.3) รองลงมาสวมถุงยางอนามัย (ร้อยละ 21.8) และการหลั่งภายนอก (ร้อยละ 15.2) ผลการศึกษาสาเหตุนำไปสู่การตั้งครรภ์ พบว่า ส่วนมากต้องการมีบุตรไว้สืบสกุล (ร้อยละ 34.9) รองลงมาการเกิดความผิดพลาดในการคุมกำเนิด (ร้อยละ 25.7) และการไม่ได้ป้องกัน/คุมกำเนิด (ร้อยละ 24.9)


ด้านความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตร พบว่า กลุ่มใหญ่มีความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตรระดับมากที่สุด (ร้อยละ 37.0) ส่วนความสัมพันธ์กับสามี พบว่า มีสัมพันธภาพกับสามีในระดับดีถึงดีมาก (ร้อยละ 77.1) การศึกษาของสามี พบว่า ส่วนใหญ่สามีจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ร้อยละ 38.3) โดยส่วนใหญ่อาชีพเกษตรกรรม (ร้อยละ 33.6) และรับจ้าง (ร้อยละ 24.7) มีรายได้อยู่ในช่วง 3,001- 7,000 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 55.1)

สำหรับความต้องการความช่วยเหลือ พบว่า สิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด คือ ต้องการความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตร (ร้อยละ 24.4) รองลงมาเงินทุนประกอบอาชีพ (ร้อยละ 22.3) และการจัดหาอาชีพ (ร้อยละ 20.2) ตามลำดับ

ผลการศึกษาการคลอดและการเลี้ยงดูบุตรของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ (ทั้งที่ตั้งครรภ์ในขณะที่กำลังศึกษาและตั้งครรภ์เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว) พบว่า มีการฝากครรภ์ครบตามเกณฑ์ (ร้อยละ 67.1 และร้อยละ 73.5) โดยฝากครรภ์เมื่ออายุครรภ์ 11-20 สัปดาห์ (ร้อยละ 43.8 และร้อยละ 51.7) สำหรับวิธีการคลอด พบว่า ส่วนใหญ่คลอดปกติ (ร้อยละ 87.7 และร้อยละ 85.8) ไม่มีภาวะแทรกซ้อนขณะคลอดและภายหลังคลอด (ร้อยละ 87.7 และร้อยละ 94.2) น้ำหนักทารกแรกคลอดส่วนใหญ่ มากกว่า 2,500 กรัม (ร้อยละ 80.8 และร้อยละ 77.1)

การเลี้ยงดู พบว่า ส่วนใหญ่ตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน โดยไม่ให้น้ำหรืออาหารอื่น (ร้อยละ 79.5 และร้อยละ 70.3) และพบว่าวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ในขณะที่กำลังศึกษามีภาวะเสี่ยงของการตั้งครรภ์มากกว่าวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว (ร้อยละ 50.7 และร้อยละ 40.4)


2. ผลการศึกษาเปรียบเทียบการมองโลกในแง่ดี ความชอบเสี่ยง สติ-สัมปชัญญะ การจัดการกับความเครียด เจตคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรส และพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ ระหว่างวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และวัยรุ่นที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ในจังหวัดกำแพงเพชร พบว่า วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และวัยรุ่นที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ มีความชอบเสี่ยง การจัดการกับความเครียด เจตคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรส และพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ แตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05

โดยผู้ที่ตั้งครรภ์จะมีค่าเฉลี่ยความชอบเสี่ยง เจตคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรส และพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ สูงกว่าผู้ที่ไม่ตั้งครรภ์ ในขณะที่มีการจัดการกับความเครียดต่ำกว่า สำหรับตัวแปรอื่น ๆ ไม่พบว่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

3. ผลการศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุของการเกิดพฤติกรรมเสี่ยงด้านการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นในจังหวัดกำแพงเพชร ในการวิเคราะห์เพื่อศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุของการเกิดพฤติกรรมเสี่ยงด้านการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นในจังหวัดกำแพงเพชร ใช้ตัวแปรพยากรณ์ 5 ตัวแปร คือ (1) การมองโลกในแง่ดี (2) ความชอบเสี่ยง (3) สติ-สัมปชัญญะ (4) การจัดการความเครียด และ (5) เจตคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรส พบว่า ตัวแปรที่เป็นปัจจัยเชิงสาเหตุของการเกิดพฤติกรรมเสี่ยงด้านการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นในจังหวัดกำแพงเพชร ผลการศึกษาพบว่า เจตคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรส และความชอบเสี่ยง โดยเจตคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรสและความชอบเสี่ยง สามารถร่วมกันอธิบายพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

4. ปัจจัยเชิงสาเหตุของการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในจังหวัดกำแพงเพชร ในการศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุของการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในจังหวัดกำแพงเพชร ตัวแปรพยากรณ์ 6 ตัวแปร คือ (1) การมองโลกในแง่ดี (2) ความชอบเสี่ยง (3) สติ-สัมปชัญญะ (4) การจัดการความเครียด (5) เจตคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรส และ (6) พฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์

ผลดารศึกษาพบว่า ตัวแปรที่เป็นปัจจัยเชิงสาเหตุของการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในจังหวัดกำแพงเพชรได้แก่ เจตคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรส และพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ โดยพบว่า วัยรุ่นที่มีเจตคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรส เพิ่มขึ้น 1 หน่วยจะมีโอกาสท้องเพิ่มขึ้น 1.99 เท่า หรือเพิ่มขึ้น 99% ในขณะที่ตัวแปรอื่นที่เข้าสมการมีค่าคงที่และในขณะเดียวกันหาก วัยรุ่นที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น 1 หน่วยจะมีโอกาสท้องเพิ่มขึ้น 1.42 เท่า หรือเพิ่มขึ้น 42% ในขณะที่ตัวแปรอื่นที่เข้าสมการมีค่าคงที่

โดยสรุปกล่าวได้ว่า วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่แต่งงานเมื่ออายุยังน้อยไม่ได้ศึกษาต่อและสามีวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ก็เช่นเดียวกัน ไม่มีอาชีพและมีรายได้จากสามีเป็นหลักโดยที่สามีส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรและรับจ้างมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัวและยังต้องอยู่อาศัยกับพ่อแม่เกือบทั้งหมด โดยที่สาเหตุการตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจมีบุตรเกิดจากความผิดพลาดในการไม่ได้ป้องกันการหรือคุมกำเนิด และขาดความรู้ ความเข้าใจ และภูมิต้านทานต่อสิ่งเร้าในการนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ โดยที่ผลการศึกษากลุ่มนี้เกือบทั้งหมดที่ตั้งครรภ์มีความรับผิดชอบต่อเด็กในครรภ์ มีการฝากครรภ์และเด็กคลอดปลอดภัยได้รับการเลี้ยงดูต่อมา และอาจมีกลุ่มที่ไม่ได้ศึกษาครอบคลุมทั่วถึงที่ไม่ได้ข้อมูลของผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์อันนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการทำแทงค์ และปัญหาที่เกิดขึ้นตามกับกลุ่มวัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์และตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนตั้งแต่สถาบันครอบครัว ชุมชน สังคม ควรให้ความสำคัญ ในการร่วมกันป้องกัน แก้ไข ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ที่มาเรื่อง: กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2554 (www.m-society.go.th): ภาพ: อินเตอร์เน็ต.

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment