Tuesday, October 27, 2009

ความร่วมมืออาเซียน ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน

ความร่วมมืออาเซียน ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ก้าวแรกสู่ความเป็นศูนย์กลางประชาชนอย่างแท้จริง การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 หนึ่งในเรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นครั้งนี้ คือ พิธีจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICSR) อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการตั้งขึ้นตามข้อ 14 ของกฎบัตรอาเซียน ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของไทยในฐานะประธานอาเซียนที่จะสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง
ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะผู้ติดตามเรื่องนี้ ได้ชี้แจงที่มาและความสำคัญขององค์กรดังกล่าวกับสำนักข่าวแห่งชาติ ว่า มีหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนในหมู่ประชาชน ให้คำปรึกษาและเสริมสร้างศักยภาพของภาครัฐ การพัฒนาบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ทำการศึกษาและทำรายงานประเด็นสิทธิมนุษยชนต่างๆ เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
ทั้งนี้ การประกาศปฏิญญาชะอำ-หัวหิน เนื่องในโอกาสการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการครั้งนี้ก็เพื่อย้ำความมุ่งมั่นของรัฐสมาชิกที่จะสนับสนุนการทำงานขององค์กรดังกล่าวอย่างเต็มที่
สำหรับงบประมาณในการจัดตั้งกองทุน ประเทศสมาชิกได้ใช้งบประมาณมูลค่า 200,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการทำงานของ AICSR ในปีแรก และจะมีการบริจาคเงินอุดหนุนเพิ่มเติมเป็นรายปีต่อไป และการประชุมที่มีขึ้นเมื่อวันที่24 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมหัวหิน แมริออท รีสอร์ทแอนด์สปา ถือเป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการครั้งแรกของ AICSR
ทั้งนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนชุดนี้ ประกอบด้วย 10 คน มาจากตัวแทนของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศละ 1 คน โดยเลือกจากตัวแทนภาคประชาสังคมของแต่ละประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมา คือ มีข้อเรียกร้องว่า กรรมการสิทธิ์ฯ หรือผู้แทนเหล่านี้ ควรจะมาจากภาคประสังคม ขณะที่ทางฝ่ายรัฐ ก็มองว่า กลไกนี้เป็นกลไกรัฐ ก็ควรอยู่ในกระบวนการของรัฐอยู่ จึงเป็นปัญหาหนึ่งที่ยังต้องถกกันต่อไป เพราะแต่ละประเทศก็ตีความประเด็นไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ก็เป็นภารกิจหนึ่งที่ที่ประชุมอาเซียนต่างมีความมุ่งมั่นที่จะจัดตั้งให้สำเร็จให้ได้ เพราะหากจัดตั้งสำเร็จ ประโยชน์ที่ได้จากกรรมการชุดนี้ ก็คือ ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ ที่ผู้หญิงหรือเด็กถูกหลอกไปค้าบริการทางเพศ หรือใช้แรงงานเด็กอย่างผิดกฎหมาย เมื่อเกิดปัญหาเหล่านี้ กลไกนี้จะช่วยได้ แต่ข้อแนะนำของ ศ.ดร.อมรา ก็คือ จะต้องสร้างกลไกนี้ขึ้นมาให้แข็งแกร่งกว่าที่เป็นอยู่กว่าปัจจุบัน
“เราได้พยายามทำเรื่องนี้กันมาก่อนแล้ว แล้วเท่าที่ผ่านมาก็ได้ทำข้อตกลงระหว่าง คู่กรณี เช่น ระหว่างไทย – กัมพูชา ไทย- ลาว ถ้าเผื่อว่า ในระดับอาเซียน เราจะสามารถร่างอะไรขึ้นมาได้ มันก็จะได้ประสานเชื่อมโยงกันไปมาทั้ง 10 ประเทศได้ ซึ่งน่าจะเป็นผลดี และในส่วนของกรรมการทั้ง 10 คน นี้ คือ หัวจักรสำคัญ ที่จะต้องมาช่วยกันคิดสร้างกลไกหรือกระบวนการต่างๆขึ้น สู่การปฎิบัติที่ชัดเจน และเข้าใจตรงกัน ”
ก็ต้องติดตามต่อไปว่า ปัญหาเรื่องค้ามนุษย์ หรือปัญหาแรงงานข้ามชาติ จะได้รับการแก้ไข สู่สถานการณ์ที่ดีขึ้นหรือไม่ หากมีกลไกนี้แล้ว เพราะหากการประสานความร่วมมือในทิศทางเดียวกัน ประเทศที่เป็นผู้รับหรือผู้ส่ง ก็จะได้ประโยชน์ 2 ด้าน
การร่วมประกาศปฏิญญาชะอำ-หัวหิน ครั้งนี้ จึงถือเป็นการผนึกกำลังของอาเซียน เพื่อผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนเพื่อให้ประชาชนในอาเซียนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมเป็นศูนย์กลางการนำประชาคมอาเซียนให้พัฒนาอย่างแท้จริงและยั่งยืน (ดาวน์โหลด เอกสาร: ปฏิญญาชะอำ-หัวหินเนื่องในโอกาสการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการ)
ข้อมูลข่าวและที่มา: ผู้สื่อข่าว : ชุติมา สุขวาสนะ Rewriter : พรภัสสร ปิ่นสกุล
สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ : http://thainews.prd.go.th/

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment