Friday, August 21, 2009

สถานการณ์เด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบน

สถานการณ์ทางสังคม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ๒๕๕๑ จากผลการดำเนินงานการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคมของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน) โดยมีการสำรวจจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลทางสังคม พบว่า สถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีดังนี้
1.พฤติกรรมเสี่ยงของเด็กเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ ผลการศึกษาพบว่า ข้อบ่งชี้สถานการณ์ทางสังคม ด้านความปลอดภัยในการเดินทาง ด้านการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ มีความรุนแรงและมีจำนวนมากขึ้น (สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่, 2551)
2. สถานการณ์เด็กเยาวชน ด้านพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของกลุ่มวัยรุ่นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV ในจังหวัดเชียงราย ผลการศึกษาที่บ่งชี้สถานการณ์ทางสังคม พบว่า (1) ข้อมูลปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยโรคเอดส์ และผู้ติดเชื้อในจังหวัดเชียงรายตั่งแต่ปี ๒๕๓๑-๒๕๕๑ (เดือนมีนาคม) ของงานควบคุมโรคเอดส์และกามโรค สาเหตุอันดับหนึ่ง คือ การมีเพศสัมพันธ์ (2) การทำเวทีประชาคมโครงการแก้ไขปัญหาทางสังคมของจังหวัด และจากการประชุม และระดมความคิดเห็นของทีมงานเฝ้าระวัง ฯ จังหวัดเชียงราย ด้านสังคมจะมีปัญหาในด้านการติดเชื้อเอดส์/ติดโรคของวัยรุ่น (3) พฤติกรรมการเลียนแบบจากดารา ตลอดจนรับเอาวัฒนธรรม การดำเนินชีวิตแบบตะวันตก ในการใช้ชีวิตอิสระ การคบเพื่อนต่างเพศ การเปลี่ยนคู่นอน (กิ๊ก) การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกัน ตลอดจนการเบี่ยงเบนทางเพศที่เพิ่มมากขึ้น
3.สถานการเด็กและเยาวชน ด้านพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กในการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในจังหวัดลำพูน โดยมีผลการศึกษาพบข้อบ่งชี้สถานการณ์ทางสังคม จำนวน 4 ประเด็น คือ (1) ระยะห่างของวัยรุ่น และครอบครัวมีความกว้างมากขึ้นทำให้วัยรุ่นนั้นใช้เวลาที่มีคุณภาพกับครอบครัวน้อยลง (2) ครอบครัวมีการบริโภควัตถุนิยมสูงขึ้น และอาจยอมทำทุกอย่างเพื่อแลกกับเงิน (3) วัยรุ่นมีระดับความเชื่อและศรัทธาในศาสนาน้อยลง และทำให้ค่านิยม ในเรื่องที่เกี่ยวกับศีลธรรม จริยธรรมลดความสำคัญลง (4) การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมเสี่ยงของเด็ก ในด้านต่าง ๆ เช่น การมีความสัมพันธ์ทางเพศ, การเสตยาเสพติด, การทะเลาะวิวาท (สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำพูน, 2551)
4. พฤติกรรมเด็กและเยาวชนในจังหวัดลำปาง ผลการศึกษาพบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การฆ่าตัวตาย โดยผลการศึกษาพบข้อบ่งชี้สถานการณ์ทางสังคม จำนวน ๓ ประเด็น คือ (๑) อัตราการการคลอดของแม่ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี สูงขึ้น (๒) อัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชนเพิ่มมากขึ้น (๓) อัตราการฆ่าตัวตายต่อแสนประชากรเพิ่มขึ้น (สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปาง, 2551)
5. พฤติกรรมเสี่ยงของเด็กและเยาวชนในในการใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนในจังหวัดพะเยา ผลการศึกษาพบข้อบ่งชี้สถานการณ์ทางสังคม คือ (1) สถิติการเกิดคดีของเด็กและเยาวชนจากการสอบปากคำเด็กผ่านกระบวนการมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น (2) สถานการณ์การเล่นเกมส์ และการใช้อินเตอร์เน็ต ที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนเพิ่มมากขึ้น (สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพะเยา, 2551)
6.สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวในจังหวัดแพร่ ผลการศึกษาพบข้อบ่งชี้สถานการณ์ทางสังคม จำนวน 3 ประเด็น คือ (1) อัตราการหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้น และมีข้อมูลการละเมิดสิทธิเด็กและสตรีต่อเนื่อง (2) เด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่มขึ้น การใช้เวลาร่วมกันของครอบครัว และเด็กมีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงมากขึ้น และ (3) ประชาชนจังหวัดแพร่ มีปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเพิ่มขึ้น อัตราการฆ่าตัวตาย และโรคจิตประสาทเพิ่มขึ้น (สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแพร่, 2551)
7. พฤติกรรมเสี่ยงของเด็กและเยาวชนในหอพักในจังหวัดน่าน ผลจากการศึกษาพบว่ามีข้อบ่งชี้สถานการณ์ทางสังคม คือ นักเรียน นักศึกษาที่อาศัยอยู่ในหอพักนจังหวัดน่านบางแห่งมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น การดื่มสุรา การเสพยาเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เป็นต้น โดยผลการศึกษาพบว่า สาเหตุสำคัญของการเกิดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เกิดจากครอบครัว การคบเพื่อน และสิ่งแวดล้อม (สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดน่าน, 2551)
8. สถานการณ์การเข้าถึงสวัสดิการสังคมของเด็กและเยาวชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผลการศึกษาพบข้อบ่งชี้สถานการณ์ทางสังคม จำนวน 3 ประเด็น คือ (1) ประเด็นการเข้าไม่ถึงสวัสดิการสังคมแต่ละด้านที่พึงควรได้รับของเด็กและเยาวชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน (2) หน่วยงานองค์กรแต่ละพื้นที่มีแผนงาน โครงการ กิจกรรมเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมตอบสนองความต้องการของเด็กและเยาวชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน และ (3) ฐานข้อมูลประเภทของความต้องการสวัสดิการสังคมของเด็กและเยาวชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน (สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน, 2551)
สถานการณ์ทางสังคมในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน พบว่า สาเหตุแห่งความรุนแรงที่เกิดขึ้น จะเริ่มต้นจากการที่ครอบครัวที่มีการดื่มแอลกอฮอล์ และส่งผลให้มีการประพฤติผิด ศีลข้อที่ 3 (การล่วงละเมิดเทางเพศ) และนำไปสู่ความรุนแรง เช่น การละเมิดสิทธิของผู้อื่น โดยที่ปัญหาด้านครอบครัวที่เกิดขึ้น มีสาเหตุจากการรับกระแสการบริโภคค่านิยม ทำให้เกิดปัญหาแก่ครอบครัวอย่างมาก เช่น การดื่มเหล้า การเล่นเกมส์ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ก่อให้เกิดปัญหาแก่สมาชิกในครอบครัวเป็นอย่างมาก กิจกรรมการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม จะเป็นเครื่องมือในการบ่งชี้ ประเด็นที่ควรเฝ้าระวังให้แก่ชุมชน ท้องถิ่น โดยประเด็น ต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะสามารถหาทางเลือกหรือทางออกโดยการหาคำตอบโดยชุมชน หรือการวิจัยชุมชน ในการป้องกัน แก้ไข พัฒนา ส่งเสริม กิจกรรม ที่เป็นทางเลือกที่ค้นพบโดยชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนให้ชุมชนได้เกิดการมีส่วนร่วมในการค้นหาทางออกของชุมชน ผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้น ก็นำมาสรุปเป็นชุดความรู้ เกี่ยวกับการพัฒนาสังคมเพื่อตนเอง และนำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับชุมชนอื่น ๆ พัฒนาต่อยอดการปฏิบัติให้ดีขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
อาสาสมัครเฝ้าระวังทางสังคม

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment