Friday, September 4, 2009

พฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทย 51 ตอน 5

บทวิเคราะห์เพื่อการเฝ้าระวังและทางออกทางเลือกการป้องกันแก้ไขปัญหา บทความการวิเคราะห์ส่วนนี้ เป็นการนำข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทย ปี 2551 และ 2548 มาทำการวิเคราะห์ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
การพักอาศัยระหว่างเปิดเทอม (ระหว่างการเรียน) ปรากฏว่ามีเด็กส่วนหนึ่ง (ร้อยละ 1.3 ในปี 2551 ได้พักอยู่หอพักที่ไม่มีการแยกชาย หญิง ร้อยละ 0.4) โดยต้องพักอยู่หอพักเอกชน ซึ่งเด็กในระดับนี้ อาจไม่มีความรับผิดชอบ หรือรู้เท่าทันกับสถานการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติ หอพัก เพื่อการควบคุมการจัดหอพัก ซึ่งถ้ามีการควบคุมได้ครอบคลุมและทั่วถึง ก็จะเป็นประโยชน์ โดยควรที่สถานศึกษา หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้มีส่วนเข้าไปจัดการในการหาหอพักที่เหมาะสมให้กับเด็ก ซึ่งอาจเป็นหอพักที่มีข้อตกลงเป็นเครือข่ายของหน่วยงานราชการ หรือสถานศึกษา
ครอบครัวที่มีปัญหาด้านการเงิน จากผลการศึกษา พบว่า ในปี 2548 มีครอบครัวของกลุ่มผู้ให้ข้อมูลที่มีปัญหาด้านการเงินมากถึง ร้อยละ 6.7 และ ลดลงเป็น ร้อยละ 5.5 ในปี 2551 ถึงแม้ว่าสถิติร้อยละดูเหมือนไม่มากนัก แต่อาจทำให้โอกาสทางการศึกษาของเด็กกลุ่มนี้ต่ำลง ปัจจุบันการจัดกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ยังเป็นการสนับสนุนเฉพาะระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ถึงแม้ว่าระดับมัธยมศึกษามีการยกเว้นค่าเล่าเรียน (เรียนฟรี) จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงแล้วในการเรียนการสอนไม่ได้มีเฉพาะค่าเล่าเรียนเท่านั้น ยังมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอีกมากมาย ถ้ารัฐมีการจัดสวัสดิการค่าใช้จ่ายที่จำเป็นให้กับเด็กที่ด้อยโอกาส การศึกษาของเด็กกลุ่มนี้ก็จะมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น
การหนีเรียนของกลุ่มตัวอย่าง โดยให้เหตุผลต่อการหนีเรียนว่า เพราะเบื่อครูมากที่สุด และรองลงมาเป็นเพราะเบื่อการเรียน ทั้งสองประเด็นมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนการสอน ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาเชิงลึก เพื่อการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา และกระบวนการเรียนการสอนในระบบการศึกษาที่เหมาะสมต่อไป
ภาวะซึมเศร้าและการคิดฆ่าตัวตาย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งสองประเด็น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานด้านการศึกษาควรให้ความสำคัญ ตลอดจนควรจัดให้มีการเรียนการสอนที่สอดแทรกความรู้ความเข้าใจในหลักสูตรที่เหมาะสม และควรพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง นำไปถ่ายทอด รวมทั้งใช้องค์ความรู้ในการเฝ้าระวังภายในสถานศึกษาได้อย่างเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน
การถูกทำร้ายจากบุคคลในครอบครัว พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 13.4 ในปี 2548 เป็น ร้อยละ 15.5 ในปี 2551 แสดงให้เห็นว่าความไม่เข้าใจของพ่อแม่ผู้ปกครองไม่เท่าทัน กับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เด็กในปัจจุบันมีการรู้สิทธิของตนมากขึ้น มีจิตใจที่อ่อนไหวง่ายจากแรงดึงดูดของสังคมภายนอก เมื่อเด็กถูกทำร้ายจากบุคคลในครอบครัว เป็นผลให้ความสัมพันธ์กับครอบครัวลดลง เมื่อยามเด็กมีปัญหาก็ไม่บอกพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่กลับไปปรึกษาเพื่อน หรือบุคคลภายนอก ถ้าได้รับคำแนะนำที่ดี ก็ดีไป หากได้รับคำแนะนำที่ไม่ดี อาจทำให้เด็กหลงเดินผิดทาง หรืออาจหาทางออกด้วยการเสพยาเสพติดเป็นทางออกทางระบายก็เป็นได้
พฤติกรรมการบริโภคสิ่งเสพติด ยังพบว่า ในปี 2551 มีกลุ่มตัวอย่างติดบุหรี่ ร้อยละ 6.5 และมีพฤติกรรมดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ในรอบ 1 เดือน ร้อยละ 15.3 ทั้งที่ประเทศไทยมีการรณรงค์การลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ รวมทั้งมีมาตรการเกี่ยวกับการจำกัดการจำหน่ายบุหรี่และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ แต่พฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ยังไม่ลดลงเท่าที่ควร ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหากลยุทธ์ที่เหมาะสม จูงใจให้เด็กเห็นโทษ พร้อมไปกับมาตรการบังคับลงโทษที่เหมาะสม รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ควรให้ความสำคัญและเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็ก โดยผลการสำรวจยังพบว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือบุคคลในบ้าน ร้อยละ 31.0 ในปี 2551 ยังใช้ให้เด็กเป็นผู้ซื้อบุหรี่ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อันเป็นการปลูกฝังทัศนคติ และค่านิยมให้เห็นว่า การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เป็นปกติธรรมดา ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า พ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่เข้าใจและละเลยการให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ประกอบกับหน่วยงานทางราชการเองก็ยังไม่มีการบังคับอย่างจริงจังในการจำหน่วยบุหรี่แลเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของร้านค้าให้กับเด็ก
ด้านพฤติกรรมด้านความรักและความสัมพันธ์ทางเพศ ควรให้ความสำคัญกับประเด็นการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันได้ขยายไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศในเด็กผู้ชายมากขึ้น และประเด็นการมีเพศสัมพันธ์กับคู่รัก ก่อนวัยอันควร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรให้การศึกษาทั้งในเชิงวัฒนธรรม จารีต ประเพณี รวมทั้งให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นการป้องกันตนเองจากโรคทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ (มีลูกอันไม่พึงประสงค์ในเพศหญิง) ด้วยสถิติข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันตนเองเลย ร้อยละ 3.7 ซึ่งนอกจากจะเป็นปัญหากับตนเอง ครอบครัว ชุมชน แล้ว ยังเป็นปัญหาทางสังคมอีกด้วย
อาสาเฝ้าระวังทางสังคม

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment