Wednesday, September 9, 2009

สภาวะทางสังคมวัฒนธรรมไทย 51

สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจสภาวะทางสังคมและวัฒนธรรมของประชากรไทย พบพุทธศาสนิกชนประกอบกิจทางศาสนาเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันพบว่าคนไทยยังมีน้ำใจ โดยมีประมาณร้อยละ 40 ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือ แม้ไม่ใช่ญาติ จากผลการสำรวจสภาวะทางสังคมและวัฒนธรรม พ.ศ. 2551 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) พบว่าประชากรของประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 93.6 รองลงมานับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 5.4 และศาสนาคริสต์ ร้อยละ 0.9 ที่เหลือคือผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ๆ รวมทั้งผู้ที่ไม่มีศาสนา ร้อยละ 0.1 เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบลักษณะเช่นเดียวกันในทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ซึ่งมีศาสนาอิสลามสูงกว่าภาคอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด คือ ร้อยละ 32.4
สำหรับพุทธศาสนิกชนประกอบกิจทางศาสนาพุทธ คือ ตักบาตร สวดมนต์ และถวายสังฆทานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสวดมนต์เพิ่มขึ้นมากจากร้อยละ 56.5 ในปี 2548 เป็น ร้อยละ 74.7 ในปี 2551 ขณะที่การรักษาศีล 5 ครบทุกข้อ และการทำสมาธิ เป็นกิจทางศาสนาที่มีผู้ปฏิบัติต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง คือร้อยละ 43.2 และ 35.6 ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาความถี่ของการปฏิบัติดังกล่าว พบว่าการตักบาตรส่วนใหญ่ พุทธศาสนิกชนจะนิยมทำในวันพระ/วันเข้าพรรษา/วันสำคัญทางศาสนา ร้อยละ 32.8 และมีร้อยละ 20.6 ที่มีการตักบาตรสม่ำเสมอทุกวันหรือทุกสัปดาห์ ขณะที่พบว่ามีผู้สวดมนต์สม่ำเสมอทุกวันหรือทุกสัปดาห์ ร้อยละ 24.2 และสวดมนต์ในวันพระ/วันเข้าพรรษา/วันสำคัญทางศาสนาร้อยละ 22.3 ส่วนอิสลามิกชนทำละหมาด และไปทำพิธีฮัจย์ที่นครเมกกะเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ไม่มากนัก โดยพบอิสลามิกชน มากกว่าร้อยละ 97 ทำละหมาดและถือศีลอด โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ทำละหมาดทุกวันครบ 5 ครั้งร้อยละ 54.0 และทำทุกวันแต่ไม่ครบ 5 ครั้งร้อยละ 28.6 ขณะที่มีผู้ถือศีลอดครบทั้งเดือน ร้อยละ 53.8 ส่วนผู้ที่บริจาคซะกาตมีร้อยละ 46.2 และพบว่ามีเพียงร้อยละ 8.2 ของอิสลามิกชนที่เคยไปทำพิธีฮัจย์ที่นครเมกกะ
ในขณะที่คริสตศาสนิกชนไปโบสถ์ และสวดมนต์ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71.9 และ 66.1 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 92.9 และ 92.8 ตามลำดับในปี 2551 นอกจากนี้ ยังพบว่าคริสตศาสนิกชนไปโบสถ์ทุกสัปดาห์ร้อยละ 59.4 และสวดมนต์เป็นประจำ ร้อยละ 63.1
ในด้านการยอมรับพฤติกรรมทางสังคม พบว่าคนไทย ร้อยละ 41.5 รู้สึกรับไม่ได้กับพฤติกรรมการพูดภาษาไทยคำฝรั่งคำ สำหรับพฤติกรรมการใส่เสื้อสายเดี่ยวและการแสดงพฤติกรรมไม่สุภาพในที่สาธารณะนั้น พบว่า คนส่วนใหญ่รับไม่ได้ คิดเป็นร้อยละ 65.0 และ 81.5 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังรับไม่ได้กับการแสดงออกทางเพศอย่างเปิดเผย ร้อยละ 84.6 ซึ่งในจำนวนนี้มีถึงร้อยละ 56.4 ที่รับไม่ได้เลย ส่วนการทำตัวผิดเพศนั้น ไม่ว่าจะเป็นชายทำตัวเป็นหญิงหรือหญิงทำตัวเป็นชาย พบว่า ร้อยละ 57.4 ไม่ชอบพฤติกรรมดังกล่าว โดยรับไม่ได้เลยประมาณร้อยละ 30
สังคมไทยในปัจจุบันยังไม่ยอมรับกับการที่หญิง/ชายมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร หรือก่อนแต่งงาน หรืออยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงาน รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ โดยมีถึงร้อยละ 83.2 ที่รับไม่ได้กับการที่หญิง/ชายมีเพศสัมพันธ์ก่อนอายุ 15 ปี รับไม่ได้กับการที่หญิงมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ร้อยละ 59.8 และรับไม่ได้กับการที่ชายมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ร้อยละ 51.9 ขณะที่ประมาณร้อยละ 75 รับไม่ได้กับการที่หญิง/ชายรักร่วมเพศ แต่หญิง/ชายอยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงานมีผู้ที่ไม่ยอมรับน้อยกว่ากรณีอื่น ๆ คือ ร้อยละ 49.3
อย่างไรก็ตาม พบว่า สังคมไทยยังเป็นสังคมที่น่าอยู่ ผู้คนมีคุณธรรม - จริยธรรมค่อนข้างสูง กล่าวคือเมื่อพิจารณากิจกรรมที่คนส่วนใหญ่จะทำหรือทำทุกครั้งที่มีโอกาส พบว่า เกือบร้อยละ 70 จะตอบแทนผู้มีพระคุณหรือช่วยเหลือเรา ประมาณร้อยละ 60 จะยกโทษและให้อภัยอย่างจริงใจต่อผู้ที่สำนึกผิด หรือจะยอมรับผิดและขอโทษในความผิดที่ทำ และประมาณร้อยละ 40 จะให้ความช่วยเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือแม้ไม่ใช่ญาติ แต่คนไทยยังมีพฤติกรรมที่แสดงถึงการขาดความเคารพสิทธิของผู้อื่นและการขาดวินัย เช่นการแซงคิว และการทิ้งขยะในที่สาธารณะ โดยมีถึงร้อยละ 26.6 และ39.6 ตามลำดับ
ส่วนเรื่องการออม และการใช้จ่ายนั้น พบว่า คนไทยมีการออมร้อยละ 84.5 ในจำนวนนี้มี ร้อยละ 40.3 ที่มีการออมเป็นประจำ และมีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เช่น การใช้เงินฟุ่มเฟือย รับประทานอาหารแพง ๆ และการซื้อของมียี่ห้อดังบ้างในบางครั้ง
ในเรื่องค่านิยมของวัยรุ่นไทย พบวัยรุ่นไทย (13 – 24 ปี) ร้อยละ 86.7 ทำงานบ้าน โดยมีสัดส่วนที่ทำเป็นประจำค่อนข้างสูง สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ พบว่าร้อยละ 85.5 ใช้เวลาในการอ่านหนังสือ และร้อยละ 78.4 เล่นกีฬา รองลงมาคือร่วมกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ ร้อยละ 66.6 และเล่นดนตรี/ร้องเพลง ร้อยละ 57.4 ส่วนการเล่นเกมคอมพิวเตอร์มีร้อยละ 41.3 ซึ่งผู้ที่เล่นเป็นประจำมีเพียงร้อยละ 5.8 เท่านั้น
สำหรับพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงของวัยรุ่น พบว่า วัยรุ่นที่นอนดึกตื่นสาย เที่ยวผับ/สถานเริงรมณ์ เที่ยวกลางคืนและเที่ยวเตร่ เป็นประจำ มีน้อยกว่าร้อยละ 6 และพบว่าพฤติกรรมการเล่นการพนัน/หวย/บอล เป็นประจำของวัยรุ่นมีน้อยมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นไทยในปัจจุบันยังมีจิตสำนึกที่ดีและไม่ทำตัวเป็นภาระหรือปัญหาของสังคม ทั้งนี้ การสำรวจสภาวะทางสังคมและวัฒนธรรม พ.ศ. 2551 จัดทำขึ้นเพื่อให้ทราบถึงสภาพสังคมไทยเกี่ยวกับพฤติกรรม ค่านิยมและวัฒนธรรมของคนไทยในปัจจุบัน สำหรับนำไปใช้ในการติดตามและประเมินสถานการณ์และทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสังคมในอนาคต (ที่มา: สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์, 19 สิงหาค 2552)

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment