Saturday, October 10, 2009

ปอยหลวง : งานบุญหรืองานเมาครั้งยิ่งใหญ่ ตอน 2

จากการที่ประเพณีที่ดีงามหลายอย่างของชาวล้านนา ถูกทำให้กลายเป็นเพียงงานเลี้ยงฉลองและดื่มของมึนเมาตลอดทั้งงาน เสื่อมถอยทั้งคุณค่าแห่งการทำบุญ คุณค่าของการช่วยงานกันระหว่างเครือญาติ สิ้นเปลื้องเงินทองจนก่อให้เกิดภาระหนี้สินตามมา
พระครูวิวิธประชานุกูล เจ้าอาวาสวัดหัวริน ตำบลทุ่งสะโตก อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ปรารภว่าจะจัดงานปอยหลวงฉลองศาลาอเนกประสงค์ของวัด โดยอยากเป็นงานปอยหลวงปลอดเหล้า เพราะเนื่องจากการจัดงานปอยหลวงฉลองวิหารครั้งก่อน ชุมชนต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า 5 ล้านบาท ชาวบ้านก็ต้องเป็นหนี้เป็นสินไปกับเรื่องเครื่องดื่มของมึนเมา ทำให้ขาดสติ เกิดการทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุในหมู่บ้าน
คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อนามัย ครู ได้มีการปรึกษาหารือ ในการหารูปแบบการจัดงานปอยหลวงปลอดเหล้าของวัดหัวริน โดยมีทีมวิทยากรพี่เลี้ยงจากเครือข่ายองค์งดเหล้าภาคเหนือ (สคล.) โดยคุณธงชัย ยงยืน ช่วยในการดำเนินงานค้นหารูปแบบความต้องการของชุมชน
ผู้ใหญ่บ้าน (นายเกรียงศักดิ์ อาจหาญ) กำลังสำคัญสนับสนุนในบทบาทผู้นำชุมชน จัดการประชาคมหมู่บ้าน เพื่อเติมเต็มข้อมูลที่ได้จากการค้นหาของเด็ก ๆ ในโครงการมาตลอด 5 สัปดาห์ และสอบถามความต้องการของชาวบ้าน เพื่อหารูปแบบการจัดงานปอยหลวงฉลองศาลาอเนกประสงค์ของวัดหัวริน โดยมีการนำเสนอข้อมูลค่าใช้จ่ายในการจัดงานปอยหลวงครั้งก่อนหมดไปเป็นหลักล้าน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการกินมากกว่าการทำบุญ โดยเฉพาะค่าเหล้า สรุปข้อตกลงของหมู่ว่าจะไม่มีงานปอยหลวงแบบเดิม จะทำบุญที่วัด ตั้งต้นครัวทานที่หัวหมวดบ้าน การเลี้ยงดูแขกเหรื่อ ก็ใช้สถานที่วัดจุดเดียว ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงได้มาก
ส่วนความเห็นของผู้นำไม่เป็นทางการอย่างผู้นำผู้สูงอายุ และอาจารย์วัดได้กล่าวถึงความเห็น ความรู้สึกเกี่ยวกับงานปอยหลวงรูปแบบใหม่ของวัดหัวรินว่า
สัมภาษณ์ อาจารย์สุรสิทธ์ สิทธิชัย รองประธานชมรมผู้สูงอายุอำเภอสันป่าตอง “รู้สึกดีใจที่ร่วมงานนี้ เพราะเห็นว่าค่าใช้จ่ายครั้งก่อนสูงมาก 4-5 ล้านบาท แต่งานปอยหลวงปลอดเหล้ามาเลี้ยงที่วัด และมีมหรสพเหมือนกันแต่ค่าใช้จ่ายลดลงเหลือ 5 แสน และด้วยบทบาทผู้นำผู้สูงอายุได้มีการขยายผลไปชุมชนอื่น ๆ ต่างก็เห็นดีด้วย”
สัมภาษณ์ นายรัตน์ สันหะวงศ์ อาจารย์วัด “งานปอยหลวงปลอดเหล้าเป็นงานที่ทำให้ชาวบ้านประหยัดไปเยอะมาก คือ รายจ่ายเรื่องเหล้าไม่มี ตลอดจนการพัฒนาต่อเติมบ้านจะใช้จ่ายเงินกันเยอะรวมแล้วเป็นแสน ๆ แต่มีโครงการเข้ามาก็ไม่ต้องเตรียมกันเยอะ ทำให้จัดงานรวมกัน ทำให้ประหยัด ชาวบ้านก็พูดกันว่าดีไม่เป็นหนี้ แต่ก่อน (เมื่อก่อน) รายจ่ายเยอะบางคนติดหนี้เป็นปี ๆ เพราะมันจำเป็นต้องมีปอยหลวง จะรวยจะจนแค่ไหนต้องมี ไม่มีก็ต้องยืมมา แต่พองานปอยหลวงนี้ เรามีเงินไปร่วมทำบุญและไปรวมกันที่วัด ชาวบ้านก็ไม่ไปที่บ้านกัน และวัดอื่นมาเห็นก็ว่าดี ๆ บางวัดก็นำไปเป็นแบบอย่าง”
คุณอรพรรณ โนจนานฤดม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในบทบาทเจ้าหน้าที่ของรัฐ “...ให้การสนับสนุนโครงการนี้เป็นอย่างยิ่ง ในบทบาทผู้ประสานทุกภาคส่วนให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะเป็นบทบาทโดยตรงในเรื่องสุขภาวะของประชาชนในหมู่บ้าน เนื่องจากกลุ่มที่ติดเหล้าแล้วเสียสุขภาพจิตเกิดปัญหาต่าง ๆ ในครอบครัว พ่อแม่ แทนที่จะได้ลูกมาคอยดูแล กลับต้องเป็นคนคอยดูแลลูก จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยกันแก้ปัญหาครอบครัว โดยทางสถานีอนามัยเป็นกรรมการโครงการประสานผู้นำชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน มาประชุมชี้แจง และขอความร่วมมือให้การช่วยเหลือดำเนินโครงการจนสำเร็จ ซึ่งเป็นโครงการที่ทำยากมากจากโครงการวัดหัวริน ได้ขยายผลไปตำบลอื่น ๆ ในอำเภอสันป่าตอง โดยจะมีป้ายประกาศปอยหลวงลดเหล้า เพื่อให้ลดเหล้าลงและสร้างกระแสรณรงค์ให้ประชาชนได้เกรงใจ และในรัศมี 100 เมตรจะไม่มีใครกล้าเข้ามาขายเหล้า ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นขยายผล”
ป้า...นักสังคมสงเคราะห์ สสว.๑๐

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment