Friday, November 27, 2009

สถานะการณ์การใช้ความรุนแรงในเด็กและสตรี 52

รมว.พม. เผยสถิติศูนย์พึ่งได้ มีเด็กและสตรีที่ถูกทำร้าย เข้ารักษาที่โรงพยาบาล เฉลี่ยทุก 20 นาทีต่อ 1 ราย วอนครอบครัว และชุมชน สังคม “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” และร่วมเป็นพลังสอดส่อง ดูแล แจ้งเบาะแส ผ่านศูนย์ประชาบดี โทร.1300 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

วันนี้ (25 พ.ย.52) ที่เซ็นทรัลเวิลด์ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดงาน White Ribbon Day 2009 รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2552 ว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี เป็นปัญหาที่สำคัญและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเด็กและสตรี รวมถึงผู้สูงอายุและคนพิการด้วย มีสถิติปรากฏให้เห็นและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้คนในครอบครัว สังคม มีความเครียด ประกอบกับสังคมส่วนรวมยังขาดความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้ผู้มีความเสี่ยงสูงไม่ได้รับการปกป้องหรือรู้เท่าทันปัญหา ผู้ถูกกระทำรุนแรงไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงในครอบครัวซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับเด็ก สตรี คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว คนนอกไม่กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยว ทำให้ปัญหาอาจลุกลามและรุนแรงขึ้น นายอิสสระ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2547 มีเด็กและสตรีที่ถูกทำร้ายและมารักษาที่โรงพยาบาล จำนวน 6,951 ราย หรือ 19 รายต่อวัน แต่ในปี 2551 พบว่า มี 26,565 ราย หรือ 73 รายต่อวัน ซึ่งหมายความว่า ในทุก 20 นาที จะมีเด็กหรือสตรีถูกทำความรุนแรง 1 ราย โดยผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิด เป็นสามี หรือบุคคลในครอบครัว กว่าร้อยละ 80 ปัญหาความรุนแรงเหล่านี้ ได้ส่งผลกระทบต่างๆ ต่อเด็ก สตรี ครอบครัว ชุมชน และสังคมอย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อชุมชนและสังคม ที่ก่อให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพในการพัฒนาประเทศ สังคมไม่ปลอดภัย เกิดการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและค่าสูญเสียรายได้จากการกระทำความรุนแรงในปีหนึ่งๆ มากกว่า 36,000 ล้านบาท
“การบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงควรเริ่มต้นที่ครอบครัว เพราะเป็นสถาบันแรกที่ให้ความรัก ความอบอุ่น และตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ รวมถึงถ่ายทอดการเรียนรู้ ปลูกฝังเจตคติ ค่านิยม พฤติกรรมของบุคคล และทำหน้าที่หล่อหลอมบุคคลให้เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ชุมชน ก็ต้องเข้ามามีบทบาทในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว ตลอดจนการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาก่อนที่จะเกิดความรุนแรงขึ้น รวมทั้งควรสนับสนุนให้สื่อมวลชนมีการนำเสนอที่สร้างสรรค์ มีการจัดพื้นที่ที่เอื้อประโยชน์ต่อเด็ก สตรี และครอบครัวมากขึ้น” นายอิสสระ กล่าว
นายอิสสระ กล่าวด้วยว่า สำหรับนโยบายที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ด้านการป้องกัน โดยการสร้างการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) ให้เกิดขึ้น โดยถือว่า การยุติความรุนแรง เป็นเรื่องของทุกคน ทุกฝ่าย จำเป็นต้องเชื่อมโยงกันทำงานด้วยความตระหนัก มีความเข้าใจอย่างแท้จริง สามารถนำไปจัดการ ดูแลคนในชุมชน เพื่อเฝ้าระวังปัญหาครอบครัว และส่งเสริมให้ครอบครัวมีความเข้มแข็ง อบอุ่น เช่น ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ เรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกัน และด้านการแก้ไข ฟื้นฟู ได้สร้างกลไกการทำงานและการขับเคลื่อนเพื่อผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยป้องปรามเหตุ และคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง พร้อมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำ เพื่อไม่ให้กลับมากระทำความรุนแรงซ้ำอีก นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีนโยบายให้ความช่วยเหลือคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง ตลอดจนมีการจัดสวัสดิการรองรับเพื่อให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข ประชาชนสามารถแจ้งเหตุได้ที่ศูนย์ประชาบดี โทร 1300 ทั่วประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านนายศุภฤกษ์ หงษ์ภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล ซึ่งในส่วนของประเทศไทยก็ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีตลอดทั้งเดือน เพื่อให้คนในสังคม รวมถึงหน่วยงานทุกภาคส่วน เกิดความตระหนักและร่วมกันรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงต่อเด็ก สตรี สำหรับปี 2552 ได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อาทิ การรณรงค์ติดริบบิ้นสีขาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลของการ “ไม่นิ่งเฉย ไม่ยอมรับ ไม่กระทำความรุนแรง” ต่อเด็กและสตรี ให้กับคณะรัฐมนตรี ผู้บริหารในหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน การจัดงานมหกรรมยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน และกิจกรรม “White Ribbon Day 2009” ในวันนี้ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรม รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2552 ภายใต้แนวคิด “เส้นสายของสีแสง...สู่สีขาวแห่งพลังอ่อนโยน” สะท้อนแง่มุมที่หลากหลาย สู่ความเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อเป็นพลังในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ผ่านกิจกรรมและนิทรรศการที่สอดแทรกสาระ ความรู้ และความบันเทิงต่าง ๆ 8 โซนกิจกรรม เช่น คลินิกให้คำปรึกษาปัญหาครอบครัว กิจกรรมสานสายใยครอบครัว ซุ้มวาดภาพอิสระ ดนตรีเปิดหมวกอิสระ เป็นต้น
 
ที่มา: กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment