Friday, March 4, 2011

สถานการณ์แม่วัยเยาว์....2554

สถานการณ์แม่วัยเยาว์....2554
            สภาพสังคมปัจจุบัน พบว่า การดำรงชีพของครอบครัวไทยจำนวนมากดิ้นรนเพื่อให้สามารถ ดำรงชีวิตอยู่ได้ในโลกโลกาภิวัตน์ ประชากรวัยแรงงานต้องเข้าสู่กระบวนการทำงาน พ่อและแม่ต้องทำมาหากินเลี้ยงชีพ เป็นผลให้สภาพครอบครัวขาดความอบอุ่น เด็กและเยาวชนขาดการดูแล และชี้แนะแนวทางที่เหมาะสม ความก้าวหน้าของยุคไซเบอร์และวัฒนธรรมข้ามชาติทำให้เด็กและเยาวชนได้รับ การกระตุ้นเร้า และเข้าถึงสื่อทุกรูปแบบได้โดยไร้ขีดจำกัด มีสื่อลามกมากมายที่นำเสนอ และหาดูได้ง่ายในโลกอินเตอร์เน็ต สื่อเหล่านี้มีผลเร่งเร้าให้เด็กมีพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันสมควร ด้วยความอ่อนด้อยในวัยวุฒิที่ขาดทักษะในการควบคุมอารมณ์ทางเพศของตนเอง เด็กหญิงและเด็กชายจึงมีเพศสัมพันธ์โดยขาดทักษะและความเข้าใจในเรื่องอนามัยเจริญพันธ์และการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างเพศอย่างเหมาะสมจึงส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์ไม่พร้อม
            ปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม นับเป็นปัญหาสังคมที่ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ในการดูแลเด็กและเยาวชนของประเทศไทย สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงในปัญหาดังกล่าว คือ ข้อมูลขององค์การยูนิเซฟแห่งประเทศไทยในปี 2546 (นพ.สุริยเดว ทรีปาตี) ที่ได้รายงานอุบัติการณ์การคลอดบุตรของวัยรุ่นทั่วโลก ที่มีอายุระหว่าง 15 – 19 ปี ซึ่งมีค่าเฉลี่ยที่ 65 รายต่อหญิงในวัยเดียวกัน 1,000 ราย สำหรับประเทศไทยพบว่าอัตราการคลอดบุตรของแม่วัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 15 – 19 ปี อยู่ที่ประมาณ 70 รายต่อหญิงในวัยเดียวกัน 1,000 ราย ซึ่งค่าเฉลี่ยดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของระดับภูมิภาคเอเชียซึ่งอยู่ที่ 56 รายต่อหญิงในวัยเดียวกัน 1,000 ราย นอกจากนี้ยังมีสถิติที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม ของประเทศไทยที่บ่งบอกถึงความรุนแรงของปัญหา คือ จากการสำรวจอายุเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกของวัยรุ่นไทย พบว่ามีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยปัจจุบันพบว่า วัยรุ่นเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุระหว่าง 13 – 15 ปี และยังพบว่าการมีเพศสัมพันธ์ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ส่วนใหญ่ไม่มีการใช้ถุงยางอนามัย มากถึงร้อยละ 50 ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัย ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ของวัยรุ่น พบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากการ ใช้วิธีการคุมกำเนิดไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ได้ใช้วิธีการป้องกันใด ๆ เนื่องจากขาดความรู้ หรือมีความเข้าใจที่ผิดว่าการใช้ถุงยางอนามัยขัดขวางความสุขทางเพศ และการมีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียว จะไม่ตั้งครรภ์สำหรับอัตราการคลอดบุตรของแม่วัยเยาว์ ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี ที่มาคลอดในโรงพยาบาลของรัฐ ระหว่างปี 2547 – 2552 พบว่าในปี 2547 มีแม่วัยเยาว์อายุน้อยกว่า 20 ปี มาคลอดบุตร ร้อยละ 13.86 ในปี 2552 พบว่ามีแม่วัยเยาว์อายุน้อยกว่า 20 ปี มาคลอดบุตร ร้อยละ 16.00 และอายุต่ำที่สุดที่มาคลอดบุตร พบว่า มีอายุเพียง 10 ปี เนื่องจากเด็กที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมมีอายุน้อยลงมาก เด็กเหล่านี้จึงขาดวุฒิภาวะในการจัดการกับปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้น เด็กอายุน้อยที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมบางราย ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์เมื่ออายุครรภ์เกือบ 8 เดือน ผลจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมทำให้แม่วัยเยาว์ไม่ได้ดูแลร่างกาย และไม่ได้รับอาหารเสริมบุตรของแม่วัยเยาว์จึงมักประสบปัญหาสุขภาพไม่สมบูรณ์ แข็งแรง น้ำหนักแรกเกิดน้อย ซึ่งจะทำให้มีปัญหาความผิดปกติทางระบบประสาท หูหนวก ตาบอด และมีความพิการสูงกว่าทารกที่มีน้ำหนักปกติ
            ผลจากการศึกษาวิจัยตามโครงการสำรวจปัญหา เพื่อพัฒนาระบบช่วยเหลือแม่วัยเยาว์ โดย ดร.วิชัย รูปขำดี และคณะ พบว่า เด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษา เด็กกลุ่มนี้ จะมีความกดดันและความกังวลสูง วิธีการหนึ่งที่เด็กมักนึกถึงก่อนอื่นคือ การทำแท้ง ซึ่งต้องแสวงหาสถานที่ทำแท้งเถื่อน ผลจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย อาจทำให้เด็กตกเลือด ติดเชื้อ บางรายรุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้ เด็กบางคนใช้วิธีการทุบตี กระแทกร่างกายเพื่อให้แท้ง ซึ่งบางรายก็แท้งบุตร แต่บางรายไม่แท้ง ก็ต้องพบกับความบอบช้ำทั้งแม่และลูก เด็กกลุ่มนี้เมื่อคลอดบุตรก็มีแนวโน้มทอดทิ้งบุตรสูง ส่วนเด็กที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาจะไม่กระทำการใดให้แท้งบุตรเลย แม่วัยเยาว์ร้อยละ 18.6 คิดฆ่าตัวตาย เพื่อหนีปัญหาชีวิต ร้อยละ 12.4 เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ร้อยละ 12.7 สูบบุหรี่ระหว่างการตั้งครรภ์ ในเรื่องของการดูแลครรภ์ พบว่าแม่วัยเยาว์ไปตรวจครรภ์ไม่ต่อเนื่องตามที่ แพทย์นัด บุตรของแม่วัยเยาว์ได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วน นอกจากนี้ยังมีเด็กและเยาวชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ตั้งครรภ์โดยถูกล่วงละเมิดทางเพศ เด็กกลุ่มนี้มีจำนวนมากที่ไม่ไปแจ้งความดำเนินคดี เมื่อพบว่าตั้งครรภ์จึงต้องแสวงหา ที่ทำแท้งเถื่อน แม้ว่ากฎหมายจะยอมรับให้มีการทำแท้งอย่าง ถูกต้องตามกฎหมายสำหรับการตั้งครรภ์จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศก็ตาม
           

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment