Tuesday, September 29, 2009

สถานการณ์คนไร้สัญชาติ 2551 ตอน 2

|0 ความคิดเห็น
ลักษณะปัญหาของคนไร้สัญชาติ
จากรายงานสถานการณ์ผู้ด้อยโอกาสและข้อเสนอในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาส กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551 ได้ระบุผลการศึกษา พบว่า ลักษณะปัญหาเกี่ยวกับคนไร้สัญชาติ คือ การไม่มีบัตร หรือขาดเอกสารแสดงตน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาเรื่องขาดสิทธิ และเข้าไม่ถึงสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐ รวมทั้งนำไปสู่การไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชน และสังคม ซึ่งประเด็นปัญหาและสถานการณ์ทั้งหมดล้วนเกี่ยวกับกฎหมาย ซึ่งแม้จะมีกฎหมายออกมารองรับ และแก้ไขปัญหาให้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เกิดขึ้นและเป็นจริง ปัญหา สถานการณ์ของกลุ่มคนไร้สัญชาติ สรุปได้ว่า ที่มาของปัญหาการไร้สัญชาติ เกิดจากขาดเอกสารแสดงตนเป็นปัญหาสถานะบุคคล จำแนกเป็น 1) ปัญหาเรื่องสิทธิ การถูกเอาเปรียบ ถูกหลอกลวง 2) ปัญหาการเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ เช่น การศึกษา ที่อยู่อาศัย/ที่ทำกิน สุขภาพอนามัย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รายได้ และการเข้าถึงบริการสังคมสงเคราะห์
ลำดับความสำคัญของปัญหาของคนไร้สัญชาติ
การแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น หน่วยงานภาครัฐ คือ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น โดยผลการศึกษา พบว่า ลำดับความสำคัญของปัญหาของคนไร้สัญชาติที่ต้องการให้รัฐช่วยแก้ปัญหา จำแนกตามภาคได้ คือ
1) ภาคเหนือ คือ (1) ปัญหาการขาดสถานะทางกฎหมาย (2) การถูกกดขี่และเลือกปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน
2) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ (1) ปัญหาแรงงานต่างชาติ (2) ข้อมูลข่าวสารเรื่องสิทธิของผู้ไร้สัญชาติ
3) ภาคใต้ คือ (1) การมีสิทธิและการรับรู้สิทธิ (2) สวัสดิการด้านต่าง ๆ (3) การยอมรับจากสังคม ครอบครัว ชุมชน
4) ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร คือ (1) ปัญหาการขาดสถานะทางกฎหมาย (2) การศึกษา (3) สุขภาพอนามัย (4) นโยบายพัฒนาผู้ด้อยโอกาสระดับประเทศ ที่มา: รายงานการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม จากรายงาน รายงานสถานการณ์ผู้ด้อยโอกาสและข้อเสนอในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาส กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551
อาสาเฝ้าระวังทางสังคม

Friday, September 25, 2009

สถานการณ์คนไร้สัญชาติ 2551

|0 ความคิดเห็น
แนวคิดคนไร้สัญชาติ
คนไร้สัญชาติหมายถึงสภาพที่บุคคลที่ไม่มีสัญชาติของรัฐใดรัฐหนึ่งในโลกนี้เลย จากเหตุผลที่ตัวเขาเอง หรือบุพการี หรือกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติของประเทศต่าง ๆ ส่งผลให้คนเหล่านั้นกลายเป็น “คนไร้รัฐ” รวมทั้งกลายเป็น “คนต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย” ของทุกรัฐในโลกนี้
ประเภทปัญหาของกลุ่มคนไร้รัฐ
การจำแนกประเภทปัญหาของกลุ่มคนไร้รัฐที่เกิดแก่บุคลธรรมดาที่เกิด หรืออาศัยในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติได้แบ่งประเภทไว้ 4 ประเภท คือ
1) ความไร้รัฐที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชนพื้นเมือง เหตุจากที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ออกโดยหน่วยงานราชการของไทย หรือหากมีเอกสารที่ทางรัฐไทยออกให้ก็เป็นเอกสารที่มิได้ยอมรับความเป็นไทย โดยสัญชาติของพวกเขา เช่น กลุ่มบุคคลที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่สูงของประเทศไทย (ชาวเขา หรือ ชาวไทยภูเขา ปัจจุบันเรียกว่า บุคคลบนพื้นที่สูง) กลุ่มบุคคลที่อาศัยอยู่บริเวณชายทะเล ได้แก่ ชาวเลในบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ และบุคคลที่อาศัยในบริเวณพื้นที่ป่าตามแนวชายแดน ซึ่งการปักปันเส้นเขตแดนประเทศยังไม่สำเร็จ
2) ความไร้รัฐเกิดกับบุคคลที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ หรือที่เรียกว่า ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย กลุ่มชาติพันธุ์ที่ประสบปัญหาความไร้รัฐเกิดจาก เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบรรพบุรุษซึ่งไม่ใช่คนสัญชาติไทยโดยการเกิด โดยหลักการสืบสายโลหิต กลุ่มชาติพันธ์ที่ประสบปัญหาไร้รัฐ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีรากเหง้าจากบรรพบุรุษที่เกิดนอกประเทศไทย และกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีรากเหง้าจากบรรพบุรุษที่เกิดในประเทศไทย ที่ขาดเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล หรือเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล บกพร่อง
3) ความไร้รัฐที่เกิดแก่ผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทย หรือผู้ลี้ภัย หรือ ผู้หนีภัยการสู้รบ รวมทั้งเพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจ เช่น ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า จากการสู้รบกันระหว่างรัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อยในพม่า ที่ไม่สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนได้ เป็นต้น
4) ความไร้รัฐที่เกิดแก่บุคคลไร้รากเหง้า คือ เป็นบุคคลที่สูญเสียความรู้ในรากเหง้าของตนเอง โดยไม่ทราบว่าตนนั้นเป็นบุตรของใคร หรือ บุคคลนั้นไม่รู้ว่าตนเกิด ณ ที่ใด เช่น บุคคลที่เป็นเด็กจรจัด หรืออดีตเด็กจรจัด ที่พลัดพรากจากบุพการีตั้งแต่ก่อนจำความได้ หรือ เด็กที่เกิดในยุคที่การจดทะเบียนราษฎรของประเทศไทยยังไม่ชัดเจน หรือเด็ก หรืออดีตเด็กทีอาศัยในพื้นที่ที่ปฏิบัติการด้านทะเบียนราษฎรยังมีความบกพร่องไม่ถั่วถึง
สถานการณ์คนไร้สัญชาติและการได้รับสัญชาติ
1. การมีสัญชาติตามระเบียบ 2543 (ชาวเขาติดแผ่นดิน-สัญชาติไทยโดยสิทธิ) ข้อมูลเดือน กรกฎาคม จำแนกได้เป็น ระดับประเทศ จำนวน 86,234 คน จังหวัดเชียงราย จำนวน 51,442 คน โดยมียอดคงค้างในระดับประเทศจำนวน 7,255 คำร้อง (ประมาณ 17,606 คน) (ที่มา: โครงการพัฒนาสถานภาพและคุ้มครองสิทธิเด็กไร้รัฐ และเด็กไรัสัญชาติในประเทศไทย (ภาคเหนือ) www.tobethai.org อ้างในรายงานสถานการณ์ผู้ด้อยโอกาสและข้อเสนอในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาส กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2551)
2. การได้สัญชาติตามมาตรา 7 ทวิ (พ่อแม่เข้าเมืองก่อนปี พ.ศ. 2518-ได้สัญชาติโดยรับไทยเป็นผู้ให้) (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2548) ระดับประเทศ จำนวน 39,517 คน อยู่ระหว่างดำเนินเรื่องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณา 6,923 คน และมีจำนวนยอดคงค้างในระดับประเทศ 29,270 คำร้อง
3. เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2548 สภาความมั่นคงแห่งชาติได้แสดงตัวเลขจำนวนคนไร้สัญชาติในประเทศไทยว่ามีมากกว่า 2,000,000 คน และในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูง ประมาณ 377,677 คน และประเมินว่า แนวโน้มจำนวนคนไร้สัญชาติที่หลบหนีเข้าเมืองจะสูงขึ้น
4. พบปัญหาผู้ไร้รัฐจากการประสบภัยพิบัติสึนามิไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ประกอบด้วย (1) กลุ่มชาวมอแกน ซึ่งเป็นเผ่าที่ยังไม่ได้รับสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น (2) กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น (3) กลุ่มผู้ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร์ พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด หรือถูกทอดทิ้งไว้ (4) กลุ่มผู้สูญเสียหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ ถือเป็นกลุ่มไร้สัญชาติกลุ่มใหม่ ที่ย้ายมาตั้งรกรากนานแล้ว และ (5) กลุ่มไร้รากเหง้า ซึ่งไม่ทราบว่าตัวเองคือใคร ทำให้ไม่ได้รับสิทธิ และการช่วยเหลือเช่นเดียวกับ 4 กลุ่มแรกที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ความพยายามในการแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ
หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น องค์กรแพลนประเทศไทย สภาทนายความ คณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายของสิทธิของบุคคลในไประเทศไทย รวมทั้งภาควิชาการ ได้ให้ความสำคัญมากขึ้นกับความพยายาม แก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ และมีการประสานความร่วมมือกันมากขึ้น เช่น การที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมากกว่า 30 องค์กร ได้ร่วมกันจัดงานวันเด็กไร้สัญชาติขึ้น ในช่วงเดือนมกราคมที่เป็นวันเด็กแห่งชาติ ในจังหวัดแม่อ่องสอน อำเภอสบเมย และสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งนอกจากการจัดงานวันเด็กให้เด็กไร้สัญชาติแล้ว ยังมีการสัญจรไปยังหมู่บ้านเด็กไร้สัญชาติ และมีการเปิดศูนย์ปรึกษากฎหมายสถานะบุคคลและสัญชาติ เป็นต้น (ที่มา: รายงานสถานการณ์ผู้ด้อยโอกาสและข้อเสนอในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาส กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกับ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551)

อาสาเฝ้าระวังทางสังคม
www.wrote107.blogspot.com

Wednesday, September 23, 2009

สภาเด็กและเยาวชน 2552 ตอน 3

|0 ความคิดเห็น
รายงานผลการติดตามและประเมิน สภาเด็กและเยาวชนอำเภอและจังหวัด ปี 2552 ด้านการติดตามและประเมินผลผลิต และปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานสภาเด็กและเยาวชนอำเภอและจังหวัด โดยสรุปดังนี้
ผลการติดตามและประเมินผลผลิต (Product Evaluation: P) สภาเด็กและเยาวชนอำเภอและจังหวัด ปี 2552 พบว่า
1. การดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่สภาเด็กและเยาวชน
1) การดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ โดย ส่งเสริม สนับสนุน และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวิชาการและกิจกรรมเกี่ยวกับการศึกษา (ร้อยละ 74.13)การกีฬา (ร้อยละ 73.21) วัฒนธรรม (ร้อยละ 72.00) จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นให้มีความรู้ ความสามารถ และจริยธรรม (ร้อยละ 86.00) และ เสนอแนะและให้ความเห็นต่อสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น (ร้อยละ 84.66)
2) การดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่สภาเด็กและเยาวชนจังหวัด โดย ดำเนินการประสานงานระหว่างสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ และแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ ของเด็กและเยาวชนในเขตจังหวัด (ร้อยละ 93.33) เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และเผยแพร่ด้านวิชาการ (ร้อยละ 62.66) การศึกษา (ร้อยละ 53.33) ด้านกีฬา (ร้อยละ 62.66)ด้านวัฒนธรรม (ร้อยละ 73.33) ส่งเสริมและสนับสนุนให้สภาเด็กและเยาวชนอำเภอ และสถานศึกษาในเขตจังหวัดได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ อันเป็นประโยชน์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน (ร้อยละ 88.00) และส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนในระดับท้องถิ่นได้จัดกิจกรรมต่างๆ อันเป็นประโยชน์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน (ร้อยละ 83.33)
2. ผลผลิตที่เป็นสิ่งดีๆ ที่เป็นจุดแข็งของสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ
1) ผลผลิตที่เป็นสิ่งดีๆ ที่เป็นจุดแข็งของสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ คือ คณะกรรมการมีจิตอาสา เสียสละ และมีความมุ่งมั่นในการทำงาน (ร้อยละ 96.00) พี่เลี้ยงจากหน่วยงานต่างๆ และในพื้นที่เข้ามาช่วยดูแลและสนับสนุนงานของสภาเด็กและเยาวชน (ร้อยละ 82.66) ทำให้เกิดการทำงานเป็นทีมและสอนให้เด็กเรียนรู้และรู้จักแก้ไขปัญหา (ร้อยละ 87.33) มีความเป็นประชาธิปไตย รู้จักรับฟังความคิดที่แตกต่าง (ร้อยละ 100) เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคม ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง (ร้อยละ 100) และทำให้เกิดประสบการณ์และได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการจัดกิจกรรม ได้รู้จักเพื่อนใหม่ ฝึกให้มีความกล้าแสดงออก เสียสละ และอดทน
2) ผลผลิตที่เป็นสิ่งดีๆ ที่เป็นจุดแข็งของสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด คือ คณะกรรมการมีความเสียสละ มุ่งมั่น มีจิตอาสา และให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมเป็นอย่างดี (ร้อยละ 98.66) มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย (ร้อยละ 89.33) และได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ จากการทำกิจกรรม (ร้อยละ 89.33)
ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานสภาเด็กและเยาวชนอำเภอและจังหวัด จากรายงานผลการติดตาม พบว่า
1 ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการดำเนินงานสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ คือ ด้านบุคลากร ได้แก่ขาดพี่เลี้ยง ขาดที่ปรึกษาในระดับอำเภอ และคณะกรรมการบริหารสภาเด็กอำเภอมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ครอบครัวหรือผู้ปกครองและครูไม่เข้าใจบทบาทสภาเด็กและเยาวชน(ร้อยละ 86.00) ด้านความรู้ เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ ความเข้าใจพรบ.อย่างชัดเจน การเขียนแผนงาน/โครงการ และการประสานงาน(ร้อยละ(64.00) ด้านงบประมาณได้แก่มีงบประมาณไม่เพียงพอในการดำเนินกิจกรรม ไม่รู้ช่องทางในการขอสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ร้อยละ 69.33) ด้านการบริหารจัดการได้แก่ การบริหารจัดการเกี่ยวกับการดำเนินโครงการและกิจกรรมตามระเบียบของราชการ (ร้อยละ 64.66) ด้านสถานที่ ได้แก่ไม่มีสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ (ร้อยละ 13.33) และด้านอื่นๆ เช่นขาดความหลากหลายของกิจกรรม ไม่มีสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบล ขาดการเชื่อมโยงกับสภานักเรียน ขาดแรงจูงใจในการทำงาน และขาดวัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินงาน(ร้อยละ 20.66)
2. ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการดำเนินงานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด คือ ด้านบุคลากรได้แก่ มีการเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารสภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัดบ่อย พี่เลี้ยงเปลี่ยนบ่อย ที่ปรึกษาบางจังหวัดขาดการให้ความสำคัญกับสภาเด็กและเยาวชน (ร้อยละ 81.33) ด้านความรู้ได้แก่เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ การเขียนแผนงาน/โครงการ และการประสานงาน (ร้อยละ 56.00) ด้านงบประมาณได้แก่มีงบประมาณไม่เพียงพอในการดำเนินกิจกรรม (ร้อยละ 65.33) ด้านการบริหารจัดการได้แก่ขาดทักษะในการบริหารจัดการโครงการ/กิจกรรม (ร้อยละ 64.00) ด้านความร่วมมือได้แก่มีพื้นที่อยู่ห่างไกล การเตรียมตัวสอบเข้าเรียนต่อ ความไม่เข้าใจของผู้ปกครอง และครู (ร้อยละ 26.67) ด้านสถานที่ไม่มีสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด (ร้อยละ 28.00) และด้านอื่นๆเช่น ขาดแรงจูงใจในการทำงานและขาดวัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินงาน (ร้อยละ14.67)

สภาเด็กและเยาวชน 2552 ตอน 2

|0 ความคิดเห็น
รายงานผลการติดตามและประเมิน ด้านการติดตามและประเมินปัจจัยนำเข้า และการติดตามและประเมินกระบวนการ โดยสรุป ดังนี้
ผลการติดตามและประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation : I ) พบว่า
1. การได้รับงบประมาณ/วัสดุ/อุปกรณ์/อาคารสถานที่และอื่นๆ สนับสนุนการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชนอำเภอปีงบประมาณ 2551 และ 2552 สภาเด็กและเยาวชนอำเภอ ได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจาก หน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอื่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชน และกองทุนสวัสดิการสังคม
2. การได้รับงบประมาณ/วัสดุ/อุปกรณ์/อาคารสถานที่และอื่นๆ สนับสนุนการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด ปีงบประมาณ 2551 และ 2552 สภาเด็กและเยาวชนจังหวัด ได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจาก หน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงกระทรวงอื่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชน และกองทุนสวัสดิการสังคมจังหวัด
ผลการติดตามและประเมินกระบวนการ (Process Evaluation : P) พบว่า
1. กระบวนการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชน 1) กระบวนการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ พมจ.จัดให้มีสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ โดยสมาชิกประกอบด้วยเด็กและเยาวชนที่อยู่ในอำเภอนั้น ก่อนวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2551 ( ร้อยละ 97.33) โดยจัดให้มีคณะกรรมการบริหารสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ ประกอบด้วยประธานสภา 1 คน และผู้บริหารอีกไม่เกิน 15 คน ซึ่งคัดเลือกจากผู้แทนนักเรียนหรือนักศึกษาจากสถานศึกษาที่อยู่ในอำเภอนั้น ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นขึ้นไป (ร้อยละ 96.00) และผู้แทนเด็กและเยาวชนซึ่งไม่ได้อยู่ในสังกัดสถานศึกษา (ร้อยละ 79.33) และ ให้มีที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ ประกอบด้วย พมจ. (ร้อยละ 98.67) ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาที่ดูแลอำเภอนั้น (ร้อยละ 89.33) ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ร้อยละ 94.00) ผู้แทนองค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชนที่มีกิจกรรม หรือผลงานเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน (ร้อยละ 82.67)
2) กระบวนการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด พมจ. จัดให้มีสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด ประกอบด้วยผู้แทนจากคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ จำนวนไม่เกิน 5 คน จากแต่ละสภาเด็กและเยาวชนอำเภอในจังหวัด ก่อนวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2551 (ร้อยละ 96.00) โดยจัดให้มีคณะกรรมการบริหารสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด ประกอบด้วยประธานสภา 1 คน และผู้บริหารอีกไม่เกิน 20 คน ซึ่งคัดเลือกกันเองจากสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด (ร้อยละ 100) และให้มีที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด (ร้อยละ 97.33) พมจ. (ร้อยละ 98.66) ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (ร้อยละ 98.66) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ร้อยละ 96.00) ผู้แทนองค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชนที่มีกิจกรรม หรือผลงานเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง จำนวนไม่เกิน 5 คน (ร้อยละ 85.33)
2. การสนับสนุนกิจกรรมและพัฒนาศักยภาพสภาเด็กและเยาวชน พบว่า
1) พมจ. ได้สนับสนุนกิจกรรมและพัฒนาศักยภาพสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ โดย การจัดประชุม /ปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางในการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในเขตอำเภอ และดำเนินการอื่นที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง โดยส่วนใหญ่ดำเนินการ จัดประชุมเพื่อจัดกิจกรรม (ร้อยละ 74.00) และจัดประชุมประจำเดือน (ร้อยละ 56.67) การจัดกิจกรรม โดยส่วนใหญ่จัดกิจกรรม อบรม/สัมมนา (ร้อยละ 69.33) และจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ (ร้อยละ 68.67) และการจัดให้มีการพัฒนาศักยภาพคณะบริหารฯ ด้วยวิธีการต่างๆ ในรอบปีที่ผ่านมา (ระหว่างเดือนกรกฎาคม 51- กรกฎาคม 52) โดยส่วนใหญ่จัดการประชุม/อบรม/สัมมนา (ร้อยละ 80.67) และจัดการศึกษาดูงาน (ร้อยละ 40.67)
2) พมจ. ได้สนับสนุนกิจกรรมและพัฒนาศักยภาพสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด โดย สนับสนุนให้จัดทำข้อบังคับว่าด้วยการประชุมและการดำเนินงาน โดยกำหนดจัดให้มีการประชุมสามัญอย่างน้อยปีละครั้ง (ร้อยละ 90.66) ประชุมสามัญอย่างน้อยปีละครั้ง (ร้อยละ 90.66) จัดประชุมประจำเดือน (ร้อยละ 73.33) การจัดประชุมเพื่อวางแผนในการจัดกิจกรรม (ร้อยละ84.00) ดำเนินงานตามข้อกำหนดในข้อบังคับฯ (ร้อยละ 96.00) จัดให้มีการพัฒนาศักยภาพคณะบริหารฯด้วยวิธีการต่างๆ โดย การประชุม/อบรม/สัมมนา (ร้อยละ 98.66) และการศึกษาดูงาน (ร้อยละ 48.00)
3. การนิเทศติดตามการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชน พบว่า
1) พมจ. จัดให้มีการนิเทศติดตามการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ โดยใช้วิธีการสำคัญ คือ การไปร่วมวางแผน/ประชุมในการจัดกิจกรรม (ร้อยละ 54.00) การประสานทางโทรศัพท์ (ร้อยละ 22.00) จัดประชุมสภาฯ (ร้อยละ 19.33) การตอบแบบสอบถาม (ร้อยละ 6.66) การลงพื้นที่อำเภอ (ร้อยละ 7.33)
2) พมจ. จัดให้มีการนิเทศติดตามการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด โดยใช้วิธีการสำคัญ คือ การประชุมประจำเดือน (ร้อยละ 60.00) การนัดพูดคุยกันแบบไม่เป็นทางการ (ร้อยละ 54.66) การเข้าร่วมกิจกรรม (ร้อยละ 50.66) การตอบแบบสอบถาม (ร้อยละ 13.33)

สภาเด็กและเยาวชน 2552 ตอน 1

|0 ความคิดเห็น
สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดและอำเภอ ปี 2552 จากรายงานผลการติดตามประเมินสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดอำเภอ ปี 2552 (สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1-12 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2552) โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 2,589 คน ประกอบด้วย (1) คณะกรรมการบริหารสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดจำนวน 75 จังหวัด ที่ได้จากการสุ่มอย่างง่าย รวม 935 คน (2) คณะกรรมการบริหารสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ 150 อำเภอ ที่ได้จากการสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ ได้แก่ อำเภอที่เป็นเขตเมือง 75 อำเภอ รวม 775 คน และอำเภอที่ไม่ใช่เขตเมือง 75 อำเภอ รวม 804 คน รวมทั้งสิ้น 1,579 คน และ (3) พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสภาเด็กและเยาวชน 75 คน
ใช้วิธีการในการติดตามและประเมิน 3 วิธีการ คือ (1) การประชุมกลุ่มของคณะกรรมการบริหารสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ (อำเภอที่เป็นเขตเมือง 75 ครั้ง และอำเภอที่ไม่ใช่เขตเมือง 75 ครั้ง) ( 2) การประชุมกลุ่มของคณะกรรมการบริหารสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด 75 ครั้ง และ (3) การสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับสภาเด็กและเยาวชนในจังหวัด 75 ครั้ง
นำข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้มาวิเคราะห์โดยการวิเคราะห์เนื้อหา โดยการจำแนกประเภท ตามกระบวนการติดตามและประเมินในรูปแบบ CIPP คือ (1) การติดตามและประเมินสภาวะแวดล้อม (2) การติดตามและประเมินปัจจัยนำเข้า (3) การติดตามและประเมินกระบวนการ และ (4) การติดตามและประเมินผลผลิต โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้
การติดตามและประเมินสภาวะแวดล้อม ประกอบด้วยด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนอำเภอและจังหวัด การประสานงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชน และจัดสรรงบประมาณสนับสนุนแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมด้านเด็กและเยาวชน พบว่า
ด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนอำเภอและจังหวัด ของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด คือ
1. วิธีการในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สภาเด็กและเยาวชน เรียงตามลำดับ คือ (1) การชี้แจงผ่านเวทีการประชุม/อบรม/สัมมนา (2) การใช้หนังสือราชการ (3) การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ เช่น วิทยุชุมชน เคเบิลทีวี และวิทยุกระจายเสียง เป็นต้น และ (4) แผ่นพับ/แผ่นปลิว
2. วิธีการที่ใช้ในการให้ความรู้เกี่ยวกับสภาเด็กและเยาวชนแก่หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสภาเด็กและเยาวชน เรียงตามลำดับ คือ 1) การชี้แจงผ่านเวทีการประชุม/อบรม/สัมมนา 2) การใช้หนังสือราชการ 3) แผ่นพับ/แผ่นปลิว 4) การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ เช่น วิทยุชุมชน เคเบิลทีวี และวิทยุกระจายเสียง เป็นต้น
3. การให้ความรู้เกี่ยวกับสภาเด็กและเยาวชนแก่หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสภาเด็กและเยาวชน เรียงตามลำดับ คือ 1) หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ., อบต., เทศบาล) 2) หน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. 3) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 4) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย 5) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 6) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน และ 7) องค์กรภาคเอกชน
ด้านการประสานงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชน และจัดสรรงบประมาณสนับสนุนแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมด้านเด็กและเยาวชน
1) สำนักงาน พมจ. ประชุมชี้แจงเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนระดับท้องถิ่น ร้อยละ 88.00 โดย 1) จัดเวทีประชาคมระดมความคิดเห็นของหน่วยงานภาครัฐ/เอกชนเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาสังคมประเด็นเด็กและเยาวชน และ 2) จัดเวทีประชุมเพื่อบูรณาการแผนงาน/โครงการการพัฒนาสังคม โดยให้ อบต.เข้าร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคม ฯ ในจังหวัด
2) สำนักงาน พมจ. จัดทำแนวทางการร่วมมือ ส่งเสริม และประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนระดับท้องถิ่น ร้อยละ 64.00 โดย ประสานอำเภอเพื่อจัดเวทีประชาคม จัดทำแผนด้านเด็กและเยาวชนในทุกอำเภอ และ จัดประชุมชี้แจงและสนับสนุนเอกสารแผ่นพับที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมด้านเด็กและเยาวชน โดยเปิดโอกาสให้ อปท.มีส่วนร่วมในการสนับสนุน
3) สำนักงาน พมจ. จัดทำแนวทางการร่วมมือ ส่งเสริม และประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ร้อยละ 61.33 โดย จัดโครงการนำร่องและส่งเสริมให้ อปท.ต่อยอดกิจกรรมในปีต่อไป โดยการบรรจุงานด้านเด็กและเยาวชนลงในแผนปฏิบัติการของ อปท. และ ผ่านโครงการคาราวานเสริมสร้างเด็ก โดยให้ทุกภาคส่วนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน

Wednesday, September 16, 2009

11 เดือนที่...รอคอย...

|0 ความคิดเห็น
จากการที่ได้ดูแลคนไร้ที่พึ่ง ซึ่งเกิดจากเหตุต่าง ๆ เช่น คนไข้โรคจิต ถูกครอบครัวทอดทิ้ง ผู้ประสบอุบัติเหตุ ทั้งทางกาย ทางจิต ครอบครัวไม่เหลียวแล ผลักภาระให้กับรัฐดูแล ทั้งการรักษา การฟื้นฟู จากโรงพยาบาลสู่สถานสงเคราะห์ บุคคลเหล่านี้มีจำนวนมากที่ไม่สามารถแสดงสิทธิความเป็นคนไทย ทั้ง ๆ ที่เป็นคนไทยจริง ๆ แต่ด้วยความเป็นคนไร้ที่พึ่ง คนไข้โรคจิต ดังที่กล่าวมา ทำให้อัตลักษณ์ของคนเหล่านั้นค่อย ๆ เลือนไป จนบอกไม่ได้ว่าตนเป็นใครในประเทศไทย
ดังนั้น ด้วยความรับผิดชอบ คลุกคลีอยู่กับคนเหล่านั้น หลาย ๆ คนที่จะหาสิทธิคืนให้คนเหล่านั้นได้ มีกรณีหนึ่ง เป็นเด็กสาวหน้าตาสะสวยมาทีเดียว พูดจาไพเราะ อ่อนโยน มีชื่อ นามสกุลถูกต้อง แต่ไม่มีที่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ จากการที่ได้พูดคุยกันเรื่อยมา บางวันก็มีสติจำอดีตตัวเองได้ ก็จะเล่าให้ฟังว่าตนเองมาจากไหน เคยอยู่ที่ไหนมาก่อน ในที่สุดได้ประสานขอความร่วมมือกับฝ่ายทะเบียนราษฎร์ของอำเภอหนึ่ง ได้เข้าฐานทะเบียนบัตรประชาชน ซึ่งพบว่าเธอเคยมีถิ่นที่อยู่ที่ไหน โดยที่บังเอิญว่า มีชื่อสกุลนี้คนเดียวเท่านั้น และชื่อบิดามารดาก็ตรงและถูกต้องตามที่เธอเคยบอกกล่าวไว้ เลยทำให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะค้นหาต่อไป เพื่อคืนสิทธิ์ความเป็นคนไทยให้กับเธอ ได้ติดต่อไปตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านไม่มีการตอบรับใด ๆ กลับมาเลย ก็เลยต้องไปประสานที่เขตที่มีชื่อเธออยู่ เป็นว่าชื่อเธอถูกย้ายไปอยู่ในทะเบียนกลางของเขตแล้ว และยังถูกย้ายไปอยู่ทะเบียนบ้านกลางที่สำนักงานทะเบียนราษฎร์ด้วย พูดแบบง่าย ๆ ตามภาษาชาวบ้านได้ว่า "ถูกล๊อก 2 เด้ง" มันอาจไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากมากมาย ถ้าคน ๆ นั้นยังสามารถดูแลช่วยเหลือตนเองได้ดีอยู่ แต่เธอเป็นคนป่วยทางจิต เพราะเคยถูกกระทำ และยังได้รับเชื้อ HIV แถมมาด้วย บางวันที่ร่างกายเธออ่อนแอ ก็มีอาการแสดงออกมาเป็นที่น่าสงสารอย่างยิ่ง โดยมีอาการเกิดตุ่ม พุพองตามตัวให้เห็น และด้วยความที่ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีหมายเลข 13 หลัก ทำให้เธอไม่มีสิทธิ ก็เลยได้รับการดูแลอย่างการสงเคราะห์ที่ดีที่สุดได้ระหนึ่งเท่านั้น
ทำไมต้องค้นหาสิทธิคืนให้เธอ! เพื่อเธอจะได้รับการดูแลรักษาอย่างเต็มสิทธิ เป็นการช่วยลดภาระใช้กับโรงพยาบาลที่ให้การรักษา ได้ประสานหารือกับสำนักทะเบียนราษฎร์ ว่าจะดำเนินการอย่างไรได้ เราได้ทำตามคำแนะนำทุกอย่าง แล้วเราก็ต้องรอ รอ ด้วยการโทรศัพท์ติดตามโดยตลอด ถึงความคืบหน้าว่าเป็นอย่างไร เห็นใจนะ เพราะมีคนที่รักชาติบางกลุ่ม ซึ่งจริง ๆ แล้ว รักตัวเองมากกว่า หาผลประโยชน์จากคนต่างด้าว มีคนมาสวมสิทธิก็มาก แต่ด้วยสำนึกความเป็นคนไทย จึงขอเป็นดั่งเม็ดทรายเม็ดเล็ก ๆ ช่วยอุดช่วงโหว่ไม่ให้ใครมาใช้สิทธิคนเหล่านี้ จึงได้มีความเพียรพยายามที่จะทำให้สำเร็จ กว่าจะได้เข้าคณะกรรมการของงานทะเบียนราษฎร์ หลาย ๆ ครั้งได้ติดต่อโทรศัพท์ถาม เลยบอกไปว่า ถ้ายังไม่ได้ความคืบหน้าประการใด ก็อาจจะแจ้งตายไปให้เพื่อจำหน่ายจากทะเบียนให้รู้แล้วรู้รอดไปเลยนะ.....
ที่สุดเราได้รับแจ้งจากอำเภอที่อยู่ในพื้นที่ตั้งของเราให้พาคนของเราไปให้ปากคำกับอำเภอ พร้อมคนรับรอง คนเกี่ยวข้องประมาณนั้น เพื่อส่งเรื่องกลับไปให้สำนักทะเบียนราษฎร์ต่อ เพื่อดำเนินการอนุมัติ ใช้ปลดล๊อก ให้อิสระคืนความเป็นคนไทย มีสิทธิได้ทำบัตรประชาชน ในที่สุดได้เข้าโครงการรักษา ได้รับยาต้าน ปัจจุบันทุกวันนี้ เธอยังมีชีวิตอยู่ที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย โดยที่ร่างกายเธอแข็งแรงดี ทั้งที่ไม่มีแล้ว พ่อ-แม่ เสียชีวิตหมด ก็อยู่ในความดูแลของรัฐต่อไป ความสุขใจ ปิติสุขนะ ที่สุดเราได้ช่วยให้คนคนหนึ่งได้รับคืนสิทธ์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กับเธอ ด้วยความอดทน ใช้เวลาตั้งตารอ ถาม ขอความเห็นใจ ถึง 11 เดือน สำหรับรายนี้ และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความช่วยเหลือด้วยดี และอยากจะบอกว่า "หมอ แม่รักหนูนะ" ป้าเยา
ป้าเยา

ผู้สูงอายุเหยื่อความรุนแรง

|0 ความคิดเห็น
นักวิชาการ แสดงความเป็นห่วง ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน อาจส่งผลให้ผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเพิ่มขึ้น เตรียมเสนอทางออกในเชิงนโยบายต่อรัฐบาล คาดแล้วเสร็จสิ้นปีนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวิณี วิวัฒน์วานิช คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการวิจัยเรื่องความรุนแรงต่อผู้สูงอายุไทย: การทบทวนองค์ความรู้และสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าในปี 2549-2550 ศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้สำรวจความเสี่ยงของผู้สูงอายุทั่วประเทศจำนวน 50,058 ราย ปรากฎว่าการถูกทำร้ายทางกาย ที่พบมากที่สุดคือการถูกบังคับขู่เข็ญ รองลงมาเป็นการถูกฉุดกระชาก ถูกตบตี ส่วนการทำร้ายจิตใจส่วนใหญ่ ถูกดุด่า ดูถูก รองลงมาคือถูกแสดงความเบื่อหน่าย หรือการแสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุเป็นภาระ และถูกกีดกันไม่ให้แสดงความคิดเห็น ถูกไล่ ไม่ให้อยู่อาศัย และที่น่าตกใจคือกรณีที่ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นการกระทำของผู้ใกล้ชิดผู้สูงอายุมากที่สุด คือ บุตรและคู่สมรส โดยปัจจัยที่เร่งให้เกิดความรุนแรง คือ ปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว ความเครียดของลูกหลานที่ต้องดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเป็นเวลานาน
ดังนั้น ในสภาพเศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน จึงอาจส่งผลให้แนวโน้มของความรุนแรงต่อผู้สูงอายุมีมากขึ้น รวมถึงมีการทอดทิ้งผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวิณี กล่าวว่า ข้อมูลทั้งหมดทำให้ทีมวิจัยเจาะลึกให้ถึงปัญหา และหาทางออกในเชิงนโยบายเสนอต่อรัฐบาล เพื่อหาทางคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ โดยภายใน 3 - 4 เดือนข้างหน้า จะกำหนดนิยามความรุนแรงต่อผู้สูงอายุในสังคมไทยได้ ซึ่งอาจอิงกับคำนิยามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้แล้ว รวมทั้งจะประเมินความรุนแรงของสถานการณ์ ตลอดจนกำหนดเกณฑ์ในการวินิจฉัย หรือเฝ้าระวังผู้สูงอายุจากความรุนแรง เพื่อใช้ควบคู่กับมาตราฐานทางกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้. (ที่มา: สำนักประชาสัมพันธ์ เขต 1 ขอนแก่น วันที่ 9 กรกฎาคม 2552)

Sunday, September 13, 2009

พฤติกรรมบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในครอบครัว

|0 ความคิดเห็น
รายงานข่าวสังคม หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอาทิตย์ ที่ 13 กันยายน 2552 ผลวิจัยพบเด็กไทยทดลองดื่มเหล้าตั้งแต่ 7 ขวบ เด็ก ป.2-ป.6 เกิน 40% เคยดื่มเหล้าแล้ว มีพ่อเป็นคนชักชวน เผย เด็ก 100% รู้จัก “เหล้าปั่น” อยากลองของใหม่ “เบียร์ปั่น” ด้วย เหตุแฝงในร้านขายน้ำผลไม้ น้ำหวาน เจอร้านค้า 55% ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็ก ขณะที่เด็กตั้งใจอายุครบ 18 ปี ขอดื่มเหล้าแน่นอน
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การศึกษา การรับรู้ ทัศนคติ ต่อการมีส่วนร่วมของเยาวชนต่อการยับยั้งปัญหาและพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในครอบครัว สำรวจเมื่อวันที่ 1-31 ก.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนประถมปีที่ 2-6 จำนวน 1,583 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 43% ยอมรับว่าเคยลองดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ซึ่งน่าเป็นห่วงมากเพราะผู้ที่ให้ลองคือ บิดา หรือคนในครอบครัว สำหรับอายุเฉลี่ยที่เริ่มดื่มคือ 9 ขวบ ขณะที่อายุต่ำสุดที่เคยดื่มเพียงแค่ 7 ขวบเท่านั้น และยังพบว่าเด็ก 65% เคยไปซื้อด้วยตนเอง โดยผู้ขายยอมขายทั้งที่รู้ว่าผิดกฎหมาย 55%“ที่สำคัญพบว่าเด็ก 100% รู้จักกับสินค้าเหล้าปั่น เบียร์ เบียร์ปั่น เป็นอย่างดีสามารถแยกแยะยี่ห้อได้โดยรู้จักจาก 1.โฆษณา 2.สื่อตามร้านค้าร้านอาหาร 3.เห็นของจริง 4.เคยถูกใช้ไปซื้อ 5.เคยดื่มแล้ว โดยกลุ่มตัวอย่าง 59% บอกว่าอยากลองดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเด็กอยากลองมากที่สุด คือ 1.เบียร์ 2.เหล้าปั่น 3.เบียร์ปั่น สินค้าใหม่มีขายตามร้านขายน้ำผลไม้ปั่น และมีเด็กยอมรับว่าเคยดื่มเหล้าปั่นด้วยตัวเองโดยไม่มีผู้ใหญ่พาไป และคิดว่าเหล้าปั่นไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นความเชื่อและความคิดที่อันตรายมากเพราะร้านเหล่านี้อยู่ในชุมชนไม่ห่างจากโรงเรียน และอยู่รวมกับร้านขายน้ำหวาน น้ำผลไม้ มีแผงลอย รถเร่ ขายอยู่ทั่วไป ทำให้เด็กเข้าถึงได้ง่าย” ดร.ศรีรัช กล่าว
ดร.ศรีรัช กล่าวด้วยว่า สถานที่ที่เด็ก ระบุว่ามีสุราจำหน่ายมากที่สุดคือ ร้านอาหารประเภทหมูกระทะ ร้านสะดวกซื้อ โดยร้านที่กลุ่มตัวอย่างสามารถซื้อสุราได้ด้วยตนเองคือ 1.ร้านชำใกล้บ้าน 2.ร้านสะดวกซื้อ ทั้งยังพบว่า เด็กส่วนใหญ่มีประสบการณ์เห็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากคนในครอบครัว 71% บอกว่า เห็นพ่อดื่ม ขณะที่ 32% เห็นพ่อเมา และเด็ก 35% ระบุว่าเกิดปัญหาครอบครัวหลังจากการดื่ม ซึ่งปัญหาที่พบมากที่สุดคือ ทะเลาะวิวาท โดยเด็กเชื่อว่า ผู้ใหญ่ดื่มเพราะแก้เครียด 22% และคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา 55% “ที่น่ากลัวมากคือ เด็กส่วนหนึ่งตั้งใจว่าเมื่ออายุครบ 18 ปี จะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างแน่นอน และการพบเห็นประสบการณ์การดื่มจากคนในครอบครัวทำให้เด็กซึมซับพฤติกรรม เห็นเป็นเรื่องธรรมดา โดยพบว่าเด็กใช้เวลาเพียง 2 ปี ที่จะพัฒนาจากการทดลองดื่มมาเป็นนักดื่ม ซึ่งพบว่ามีเด็กอายุ 11-12 ขวบ ที่สามารถดื่มเหล้าถึงครึ่งขวดเพียงลำพังโดยไม่มีผู้ใหญ่” ดร.ศรีรัช กล่าว
ดร.ศรีรัช กล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิด ขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่ได้ผล ทำให้ไม่สามารถควบคุมและป้องกันไม่ ให้เด็กเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย ซึ่งอยากเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และให้ กระทรวงสาธารณสุข เร่งออกกฎหมายลูกเพื่อให้ สามารถบังคับใช้กฎหมายที่มีอย่างเคร่งครัด โดย เฉพาะการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี การออกประกาศกระทรวงเพื่อควบคุมการขายเหล้าปั่น โดยเฉพาะการขาย ใกล้บริเวณสถานศึกษา การขายแบบเร่ เพื่อทำให้เด็ก เยาวชน เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ยาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 7 ก.ย. เวลา 10.00 น. เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ 50 คน จะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่น ข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี จัดการควบคุมปัญหาเหล้าปั่น พร้อมทั้งเร่งรัดให้มีการออกประกาศตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551. (ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอาทิตย์ ที่ 13 กันยายน 2552)
อาสาเฝ้าระวังทางสังคม http://www.wrote107.blogspot.com/

Friday, September 11, 2009

สถานการณ์ทางสังคมจังหวัดลำปาง 51 ตอน 2

|0 ความคิดเห็น
สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปาง ได้รายงาน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดประเด็นปัญหาสังคมของจังหวัดลำปาง ภายใต้โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาสังคมของแต่ละจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2551 โดยใช้แบบสำรวจ ผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 104 แห่ง หน่วยงานด้านการพัฒนาสังคม จำนวน 32 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อทราบสถานการณ์ปัญหาสังคมที่สำคัญ และเพื่อพัฒนาสังคม และจัดสวัสดิการสังคมของท้องถิ่น โดยมีข้อค้นพบสถานการณ์ทางสังคมจังหวัดลำปางในปี 2551 ด้านการพัฒนาสังคมและการจัดสวัสดิการสังคมของท้องถิ่น จากรายงานสถานการณ์ปัญหาของท้องถิ่น ประกอบด้วย ปัญหาสังคมเชิงกลุ่มเป้าหมาย ปัญหาสังคมเชิงประเด็น ดังนี้ (ที่มา : สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปาง, 2551)
ข้อมูลด้านการพัฒนาสังคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดลำปาง ทั้งหมด 104 แห่ง โดยใช้แบบสอบถามจานวน 3 ชุด คือ อปท. 1 อปท. 2 และ อปท. 3 พบว่า ประชากรรวมทั้งหมดในท้องถิ่นจังหวัดลำปาง จำนวน 761,490 คน ชายร้อยละ 49.28 และหญิง 50.72 และมีข้อมูลด้านการพัฒนาสังคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านการพัฒนาสังคมและการจัดสวัสดิการสังคมของท้องถิ่น จากการรายงานสถานการณ์ปัญหาของท้องถิ่น มีดังนี้
1) ปัญหาสังคมเชิงกลุ่มเป้าหมาย มีระดับปัญหาจากมากไปน้อยและต่อเนื่องกัน ได้แก่ ปัญหาครอบครัว ผู้สูงอายุ สตรี เด็ก และเยาวชน คิดเป็นร้อยละ 34.2, 30.6, 15.5, 12.0 และ 7.1 ตามลำดับ ซึ่งปัญหาที่สำคัญของครอบครัว คือ เรื่องรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จปฐ. (ร้อยละ 93.14) และปัญหาขาดผู้นำครอบครัว (ร้อยละ 6.86) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังปัญหาอื่นโดยลำดับ คือ ผู้สูงอายุยากจน และไม่มีคนดูแล สตรีไม่มีอาชีพหรือรายได้ และสตรีที่ถูกสามีทอดทิ้งเป็นหม้ายที่ต้องรับภาระเลี้ยงดูบุตรเพียงลาพัง และปัญหาเด็กยากจนไม่ได้รับทุการศึกษา จึงไม่ได้รับการศึกษาภาคบังคับ ก่อให้เกิดเด็กที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม สืบเนื่องไปถึงเมื่อเข้าสู่ความเป็นเยาวชนก็มีปัญหาติดเหล้า บุหรี่ และขาดทุนการศึกษาต่อ
2)ปัญหาสังคมเชิงประเด็นต่อความมั่นคงของมนุษย์ ประกอบด้วยปัญหาที่อยู่อาศัย สุขภาพอนามัย การศึกษา การมีงานทำและรายได้ ความมั่นคงส่วนบุคคล ปัญหาครอบครัว การสนับสนุนทางสังคม สิทธิความเป็นธรรมและการเมือง คือ
ปัญหาที่อยู่อาศัย ในสภาพที่ไม่มีน้ำประปาเพราะอาศัยในพื้นที่สาธารณะ (4,498 ครอบครัว) จึงมีสภาพที่อยู่อาศัยที่ไม่คงทนถาวร (867 ครอบครัว) มีสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม (787 ครอบครัว) และไม่มีไฟฟ้าใช้ (607 ครอบครัว) และปัญหาที่อยู่อาศัยไม่มีทางเข้าออกที่สะดวก (153 ครอบครัว)
ปัญหาสุขภาพอนามัย จำนวน 3,648 คน คือ ปัญหาสุขภาพที่ไม่แข็งแรงและไม่สามารถประกอบอาชีพได้ (ร้อยละ 36.84) ผู้ป่วยโรคเอดส์ (ร้อยละ 26.15) และมีผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ (ร้อยละ 14.56)
ปัญหาการ ศึกษา มีจำนวน 3,115 คน คือ ผู้ที่จบแล้วไม่มีงานทำ (ร้อยละ 34.96) มีงานทำแต่ไม่ได้รับค่าจ้างตามคุณวุฒิ (ร้อยละ 22.25) อีกส่วนหนึ่งได้รับการศึกษาต่ำกว่าภาคบังคับ (ร้อยละ 34.22) และเรียนไม่จบต้องออกจากการศึกษากลางคัน (ร้อยละ 2.57)
ปัญหาการมีงานทำและรายได้ จำนวน 26,396 คน คือ การขาดแคลนทุนประกอบอาชีพ (ร้อยละ40.07) ขาดทักษะฝีมือแรงงาน (ร้อยละ 31.05) ซึ่งต่อเนื่องกับปัญหาการไม่ได้รับค่าจ้างตามเกณฑ์ขั้นต่ำ (ร้อยละ 22.72) และว่างงาน (ร้อยละ 6.15)
ปัญหาความมั่นคงส่วนบุคคล ที่พบในท้องถิ่น คือ การถูกประทุษร้ายทั้งทางร่างกาย (106 คน) และถูกประทุษร้ายทรัพย์สิน (102 คน)
ปัญหาครอบครัว จำนวน 1,125 ครอบครัว ที่สำคัญสูงสุด คือ ครอบครัวไม่มีเวลาเอาใจใส่บุพการีและผู้สูงอายุ (ร้อยละ 43.47) ครอบครัวมีปัญหาหย่าร้าง (ร้อยละ 36.71) ทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาคือ การไม่มีเวลาอบรมสั่งสอนบุตรหลาน (ร้อยละ 10.40) และครอบครัวขาดสัมพันธภาพที่ดี (ร้อยละ 9.42)
ปัญหาการสนับสนุนทางสังคม คือ จำนวนครัวเรือนที่มีคนเป็นสมาชิกกลุ่มที่ได้ตั้งขึ้นในหมู่บ้านชุมชน มากถึง 62,598 ครัวเรือน และในการเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะของหมู่บ้าน/ชุมชน ก็มีจำนวนมากถึง 114,624 ครัวเรือน ในเขตพื้นที่อปท.ทั้งหมดมีหมู่บ้านที่มีศูนย์สงเคราะห์ราษฎรประจาหมู่บ้าน 354 หมู่บ้าน และมีกองทุนสวัสดิการที่เข้มแข็ง 317 หมู่บ้าน แต่อย่างไรก็ดี มีการรายงานจานวนประชาชนที่ถูกทอดทิ้งในท้องถิ่นจังหวัดลำปางรวม 66 คน
ส่วนปัญหาสิทธิและความเป็นธรรม ส่วนใหญ่ร้อยละ 94.3 ยังคงเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแล และผู้พิการยังไม่ได้รับการจดทะเบียน
ปัญหาการเมืองและธรรมาภิบาล จากการร้องเรียนที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน จำนวน 36 เรื่อง
อาสาเฝ้าระวังทางสังคม

สถานการณ์ทางสังคมจังหวัดลำปาง 51 ตอน 1

|0 ความคิดเห็น
สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปาง ได้รายงาน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดประเด็นปัญหาสังคมของจังหวัดลำปาง ภายใต้โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาสังคมของแต่ละจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2551 โดยใช้แบบสำรวจ ผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 104 แห่ง หน่วยงานด้านการพัฒนาสังคม จำนวน 32 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อทราบสถานการณ์ปัญหาสังคมที่สำคัญ และเพื่อพัฒนาสังคม และจัดสวัสดิการสังคมของท้องถิ่น โดยมีข้อค้นพบสถานการณ์ทางสังคมจังหวัดลำปางในปี 2551 ที่สำคัญ คือ สถานการณ์ปัญหาสังคมที่สำคัญ ประกอบด้วย ปัญหาด้านการศึกษา แรงงาน คุณธรรมจริยธรรม การคุ้มครองทางสังคม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และด้านการพัฒนา (ที่มา : สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปาง, 2551)
โดยสถานการณ์ปัญหาสังคมที่สำคัญของจังหวัดลำปาง พบว่ามีลักษณะของปัญหาเชิงซ้อนที่มีจุดเริ่มต้นจากครอบครัวและสิ่งแวดล้อมทางสังคม ที่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงทั้งระบบ ซึ่งเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจ และในขณะเดียวกันก็พบปัญหาด้านคุณธรรมจริยธรรมของคนในครอบครัวและสังคม ที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ เช่น คนวัยทำงานออกไปหางานทำนอกพื้นที่ หรือใช้เวลาในการทำงานเพื่อสร้างรายได้และความมั่งคั่งให้แก่ตนและครอบครัว ทำให้เวลาที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพในครอบครัวลดน้อยลง โดยที่เด็กและคนชรา ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งให้อยู่ด้วยกัน ในขณะที่เด็กและเยาวชนก็หันออกไปแสวงหาความรักและความสุขนอกบ้าน โดยละทิ้งให้คนชราต้องถูกปล่อยให้อยู่อย่างเดียวดาย ไม่มีผู้ใหญ่ที่เป็นตัวแบบที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน ส่งผลให้เด็กและเยาวชนในปัจจุบันขาดการเคารพนับถือผู้ใหญ่ เป็นต้น สำหรับปัญหาอื่น ๆ อีก 6 ประเด็นตามข้อมูลการรายงานสถิติที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานสำคัญด้านการพัฒนาสังคมของจังหวัดลาปาง คือ
1) ด้านการศึกษา พบว่า ในจังหวัดลำปางมีสถานศึกษาระดับประถม-มัธยมจำนวนมาก (482 แห่ง) ในขณะที่จำนวนนักเรียนลดลง ทำให้อัตราส่วนครูต่อนักเรียนมีค่าต่ำ (ค่าเฉลี่ยอัตราครู: นักเรียน ระดับก่อนประถมศึกษา, ประถมศึกษา, มัธยมศึกษา เท่ากับ 1:18, 1:19, 1:27 ตามลำดับ การลดจำนวนครูตามจำนวนนักเรียนส่งผลให้เกิดปัญหาครูไม่ครอบคลุมทุกระดับชั้นและทุกกลุ่มวิชา ส่วนระดับอาชีวะ-อุดมศึกษา ก็มีสถานศึกษาจำนวนมาก (16 แห่ง) แต่จำนวนสาขาวิชามีความซ้ำซ้อนไม่สร้างทางเลือกที่หลากหลายให้แก่ผู้เรียน
2) ด้านแรงงาน พบว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2549-2550 มีตำแหน่งว่างงานน้อยกว่าจำนวนผู้สมัครงาน สามารถบรรจุแรงงานได้เพียงร้อยละ 36.8 โดยอัตราที่บรรจุงานได้น้อยที่สุด คือ ผู้สำเร็จการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ลักษณะงานที่บรรจุได้น้อยที่สุด คือ กลุ่มผู้ปฏิบัติฝีมือแรงงาน (ร้อยละ 8.7)
3) ด้านคุณธรรมจริยธรรม พบว่า ความสามารถในการดำเนินงานของสถาบันหลักที่สำคัญ คือ โรงเรียน และวัด ซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้ และฝึกฝนทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ พบว่า สถานศึกษามากกว่าร้อยละ 70 สามารถผ่านมาตรฐานได้ ยกเว้นด้านคุณภาพผู้เรียนที่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรอง และมีวิสัยทัศน์ (ร้อยละ 68.51) และ ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร (ร้อยละ 54.62) ด้านสุขภาพ พบว่า ประชาชนจังหวัดลาปาง มีโรคติดต่อที่สำคัญ คือ วัณโรค ไข้เลือดออก และอาหารเป็นพิษ ในขณะที่โรคไม่ติดต่อที่สำคัญ คือ การฆ่าตัวตาย หัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง และอุบัติเหตุจราจร สาหรับแนวโน้มปัญหาอื่นๆ มีแนวโน้มลดลง คือ การมีเพศสัมพันธ์ของนักเรียนที่มีอายุ 10 – 19 ปี ผลสืบเนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน หรือในขณะที่อายุอยู่ระหว่าง 10-19 ปี พบว่ามีเยาวชนในช่วงอายุดังกล่าวมาคลอดบุตรที่สถานพยาบาลมีแนวโน้มที่ลดลง อย่างไรก็ดี มีเยาวชนมาคลอดบุตรใน พ.ศ. 2549 นี้มากถึง 412.68 คน ต่อประชากร หนึ่งแสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 13.96
4) ด้านการคุ้มครองทางสังคม จังหวัดลาปางเป็นจังหวัดที่มีทั้งการทำการเกษตร และอุตสาหกรรม พบว่ามีจำนวนผู้ประกันตน น้อยกว่าจำนวนแรงงานที่มีอยู่จริง เพราะส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ทีไม่ได้รับสวัสดิการจากหน่วยงานของรัฐ
5) ด้านความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน พบว่า ในจังหวัดลาปางมีสถิติด้านการประทุษร้ายร่างกายและทรัพย์สิน ในระดับหนึ่ง
6) ด้านการพัฒนา โดยเฉพาะทางการเมืองและธรรมาภิบาล ประชาชน มากกว่าร้อยละ 70 มีส่วนร่วมในการไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
อาสาเฝ้าระวังทางสังคม

Wednesday, September 9, 2009

พฤติกรรมบริโภคเหล้าบุหรี่ในเด็กเยาวชนน่าเป็นห่วง

|0 ความคิดเห็น
จากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2552 ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 เดือนกันยายน 2552 ในมิติด้านพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคน ในรายงานกล่าวว่า การบริโภคแอลกอฮอล์และยาสูบในภาพรวมลดลง แต่การบริโภคในกลุ่มเด็กและเยาวชน ขยายตัวอย่างน่าเป็นห่วง และการมีร้านจำหน่ายใกล้สถานศึกษาทำให้หาดื่มได้ง่าย
โดยค่าใช้จ่ายการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ค่าใช้จ่ายการบริโภคยาสูบของครัวเรือนในประเทศไทยลดลงจาก 5,654 ล้านบาทในไตรมาสสองของปี 2551 เป็น 5,220 ล้านบาท ในปี 2552 หรือลดลงร้อยละ 7.7 เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ลดลงจากไตรมาสสองของปี 2551 มูลค่า 38,519 ล้านบาท เหลือเพียง 34,545 ล้านบาทในปี 2552 หรือลดลง ร้อยละ 10.3 สาเหตุจากการที่รัฐบาลได้มีการปรับเพดานอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในเดือนพฤษภาคม ทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 และการปรับเพิ่มอัตราภาษีเบียร์ สุรา และบรั่นดี ทำให้ราคาจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7-9 แม้ว่าการบริโภคแอลกอฮอล์ในภาพรวมจะลดลง
การบริโภคในกลุ่มเด็กและเยาวชนขยายตัวในอัตราที่น่าเป็นห่วง ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2549-2550 พบเด็กและเยาวชนในช่วงอายุระหว่าง 15-24 ปี มีอัตราการดื่มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.1 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 21.9 ในปี 2550 ซึ่งสถานที่จำหน่ายที่อยู่รอบสถานศึกษาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หาดื่มได้ง่าย จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา พบว่าในรัศมี 500 เมตรรอบมหาวิทยาลัยจำนวน 15 แห่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1,712 ร้าน แม้แต่สถานศึกษาระดับประถม และมัธยมร้อยละ 73 จาก 118 แห่ง มีร้านเหล้าตั้งอยู่อยู่ในระยะ 100 เมตร และมีการดึงดูดนักดื่มหน้าใหม่ โดยการตกแต่งบรรยากาศในร้าน และดัดแปลงสูตรการผสมเหล้าให้ดื่มง่าย เช่น เหล้าปั่นที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ห้ามจำหน่ายสุราเฉพาะในบริเวณสถานศึกษาและห้ามจำหน่ายแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายเพื่อขยายขอบเขตการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครอบคลุมบริเวณรอบสถานศึกษาในรัศมี 500 เมตร และอนุญาตให้ขายเหล้าปั่นได้เฉพาะในสถานบริการที่มีใบอนุญาตตาม พ.ร.บ. สถานบันเทิง หากมีการดำเนินมาตรการด้านกฎหมายควบคู่กับการรณรงค์ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เช่น การรับน้องอย่างสร้างสรรค์จากเดิมที่มีการใช้ความรุนแรงหรือบังคับให้ดื่มเหล้ามาเป็นการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์จะช่วยลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชนได้ (ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กันยายน 2552)

สภาวะทางสังคมวัฒนธรรมไทย 51

|0 ความคิดเห็น
สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจสภาวะทางสังคมและวัฒนธรรมของประชากรไทย พบพุทธศาสนิกชนประกอบกิจทางศาสนาเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันพบว่าคนไทยยังมีน้ำใจ โดยมีประมาณร้อยละ 40 ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือ แม้ไม่ใช่ญาติ จากผลการสำรวจสภาวะทางสังคมและวัฒนธรรม พ.ศ. 2551 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) พบว่าประชากรของประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 93.6 รองลงมานับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 5.4 และศาสนาคริสต์ ร้อยละ 0.9 ที่เหลือคือผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ๆ รวมทั้งผู้ที่ไม่มีศาสนา ร้อยละ 0.1 เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบลักษณะเช่นเดียวกันในทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ซึ่งมีศาสนาอิสลามสูงกว่าภาคอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด คือ ร้อยละ 32.4
สำหรับพุทธศาสนิกชนประกอบกิจทางศาสนาพุทธ คือ ตักบาตร สวดมนต์ และถวายสังฆทานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสวดมนต์เพิ่มขึ้นมากจากร้อยละ 56.5 ในปี 2548 เป็น ร้อยละ 74.7 ในปี 2551 ขณะที่การรักษาศีล 5 ครบทุกข้อ และการทำสมาธิ เป็นกิจทางศาสนาที่มีผู้ปฏิบัติต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง คือร้อยละ 43.2 และ 35.6 ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาความถี่ของการปฏิบัติดังกล่าว พบว่าการตักบาตรส่วนใหญ่ พุทธศาสนิกชนจะนิยมทำในวันพระ/วันเข้าพรรษา/วันสำคัญทางศาสนา ร้อยละ 32.8 และมีร้อยละ 20.6 ที่มีการตักบาตรสม่ำเสมอทุกวันหรือทุกสัปดาห์ ขณะที่พบว่ามีผู้สวดมนต์สม่ำเสมอทุกวันหรือทุกสัปดาห์ ร้อยละ 24.2 และสวดมนต์ในวันพระ/วันเข้าพรรษา/วันสำคัญทางศาสนาร้อยละ 22.3 ส่วนอิสลามิกชนทำละหมาด และไปทำพิธีฮัจย์ที่นครเมกกะเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ไม่มากนัก โดยพบอิสลามิกชน มากกว่าร้อยละ 97 ทำละหมาดและถือศีลอด โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ทำละหมาดทุกวันครบ 5 ครั้งร้อยละ 54.0 และทำทุกวันแต่ไม่ครบ 5 ครั้งร้อยละ 28.6 ขณะที่มีผู้ถือศีลอดครบทั้งเดือน ร้อยละ 53.8 ส่วนผู้ที่บริจาคซะกาตมีร้อยละ 46.2 และพบว่ามีเพียงร้อยละ 8.2 ของอิสลามิกชนที่เคยไปทำพิธีฮัจย์ที่นครเมกกะ
ในขณะที่คริสตศาสนิกชนไปโบสถ์ และสวดมนต์ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71.9 และ 66.1 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 92.9 และ 92.8 ตามลำดับในปี 2551 นอกจากนี้ ยังพบว่าคริสตศาสนิกชนไปโบสถ์ทุกสัปดาห์ร้อยละ 59.4 และสวดมนต์เป็นประจำ ร้อยละ 63.1
ในด้านการยอมรับพฤติกรรมทางสังคม พบว่าคนไทย ร้อยละ 41.5 รู้สึกรับไม่ได้กับพฤติกรรมการพูดภาษาไทยคำฝรั่งคำ สำหรับพฤติกรรมการใส่เสื้อสายเดี่ยวและการแสดงพฤติกรรมไม่สุภาพในที่สาธารณะนั้น พบว่า คนส่วนใหญ่รับไม่ได้ คิดเป็นร้อยละ 65.0 และ 81.5 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังรับไม่ได้กับการแสดงออกทางเพศอย่างเปิดเผย ร้อยละ 84.6 ซึ่งในจำนวนนี้มีถึงร้อยละ 56.4 ที่รับไม่ได้เลย ส่วนการทำตัวผิดเพศนั้น ไม่ว่าจะเป็นชายทำตัวเป็นหญิงหรือหญิงทำตัวเป็นชาย พบว่า ร้อยละ 57.4 ไม่ชอบพฤติกรรมดังกล่าว โดยรับไม่ได้เลยประมาณร้อยละ 30
สังคมไทยในปัจจุบันยังไม่ยอมรับกับการที่หญิง/ชายมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร หรือก่อนแต่งงาน หรืออยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงาน รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ โดยมีถึงร้อยละ 83.2 ที่รับไม่ได้กับการที่หญิง/ชายมีเพศสัมพันธ์ก่อนอายุ 15 ปี รับไม่ได้กับการที่หญิงมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ร้อยละ 59.8 และรับไม่ได้กับการที่ชายมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ร้อยละ 51.9 ขณะที่ประมาณร้อยละ 75 รับไม่ได้กับการที่หญิง/ชายรักร่วมเพศ แต่หญิง/ชายอยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงานมีผู้ที่ไม่ยอมรับน้อยกว่ากรณีอื่น ๆ คือ ร้อยละ 49.3
อย่างไรก็ตาม พบว่า สังคมไทยยังเป็นสังคมที่น่าอยู่ ผู้คนมีคุณธรรม - จริยธรรมค่อนข้างสูง กล่าวคือเมื่อพิจารณากิจกรรมที่คนส่วนใหญ่จะทำหรือทำทุกครั้งที่มีโอกาส พบว่า เกือบร้อยละ 70 จะตอบแทนผู้มีพระคุณหรือช่วยเหลือเรา ประมาณร้อยละ 60 จะยกโทษและให้อภัยอย่างจริงใจต่อผู้ที่สำนึกผิด หรือจะยอมรับผิดและขอโทษในความผิดที่ทำ และประมาณร้อยละ 40 จะให้ความช่วยเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือแม้ไม่ใช่ญาติ แต่คนไทยยังมีพฤติกรรมที่แสดงถึงการขาดความเคารพสิทธิของผู้อื่นและการขาดวินัย เช่นการแซงคิว และการทิ้งขยะในที่สาธารณะ โดยมีถึงร้อยละ 26.6 และ39.6 ตามลำดับ
ส่วนเรื่องการออม และการใช้จ่ายนั้น พบว่า คนไทยมีการออมร้อยละ 84.5 ในจำนวนนี้มี ร้อยละ 40.3 ที่มีการออมเป็นประจำ และมีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เช่น การใช้เงินฟุ่มเฟือย รับประทานอาหารแพง ๆ และการซื้อของมียี่ห้อดังบ้างในบางครั้ง
ในเรื่องค่านิยมของวัยรุ่นไทย พบวัยรุ่นไทย (13 – 24 ปี) ร้อยละ 86.7 ทำงานบ้าน โดยมีสัดส่วนที่ทำเป็นประจำค่อนข้างสูง สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ พบว่าร้อยละ 85.5 ใช้เวลาในการอ่านหนังสือ และร้อยละ 78.4 เล่นกีฬา รองลงมาคือร่วมกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ ร้อยละ 66.6 และเล่นดนตรี/ร้องเพลง ร้อยละ 57.4 ส่วนการเล่นเกมคอมพิวเตอร์มีร้อยละ 41.3 ซึ่งผู้ที่เล่นเป็นประจำมีเพียงร้อยละ 5.8 เท่านั้น
สำหรับพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงของวัยรุ่น พบว่า วัยรุ่นที่นอนดึกตื่นสาย เที่ยวผับ/สถานเริงรมณ์ เที่ยวกลางคืนและเที่ยวเตร่ เป็นประจำ มีน้อยกว่าร้อยละ 6 และพบว่าพฤติกรรมการเล่นการพนัน/หวย/บอล เป็นประจำของวัยรุ่นมีน้อยมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นไทยในปัจจุบันยังมีจิตสำนึกที่ดีและไม่ทำตัวเป็นภาระหรือปัญหาของสังคม ทั้งนี้ การสำรวจสภาวะทางสังคมและวัฒนธรรม พ.ศ. 2551 จัดทำขึ้นเพื่อให้ทราบถึงสภาพสังคมไทยเกี่ยวกับพฤติกรรม ค่านิยมและวัฒนธรรมของคนไทยในปัจจุบัน สำหรับนำไปใช้ในการติดตามและประเมินสถานการณ์และทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสังคมในอนาคต (ที่มา: สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์, 19 สิงหาค 2552)

Friday, September 4, 2009

พฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทย 51 ตอน 5

|0 ความคิดเห็น
บทวิเคราะห์เพื่อการเฝ้าระวังและทางออกทางเลือกการป้องกันแก้ไขปัญหา บทความการวิเคราะห์ส่วนนี้ เป็นการนำข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทย ปี 2551 และ 2548 มาทำการวิเคราะห์ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
การพักอาศัยระหว่างเปิดเทอม (ระหว่างการเรียน) ปรากฏว่ามีเด็กส่วนหนึ่ง (ร้อยละ 1.3 ในปี 2551 ได้พักอยู่หอพักที่ไม่มีการแยกชาย หญิง ร้อยละ 0.4) โดยต้องพักอยู่หอพักเอกชน ซึ่งเด็กในระดับนี้ อาจไม่มีความรับผิดชอบ หรือรู้เท่าทันกับสถานการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติ หอพัก เพื่อการควบคุมการจัดหอพัก ซึ่งถ้ามีการควบคุมได้ครอบคลุมและทั่วถึง ก็จะเป็นประโยชน์ โดยควรที่สถานศึกษา หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้มีส่วนเข้าไปจัดการในการหาหอพักที่เหมาะสมให้กับเด็ก ซึ่งอาจเป็นหอพักที่มีข้อตกลงเป็นเครือข่ายของหน่วยงานราชการ หรือสถานศึกษา
ครอบครัวที่มีปัญหาด้านการเงิน จากผลการศึกษา พบว่า ในปี 2548 มีครอบครัวของกลุ่มผู้ให้ข้อมูลที่มีปัญหาด้านการเงินมากถึง ร้อยละ 6.7 และ ลดลงเป็น ร้อยละ 5.5 ในปี 2551 ถึงแม้ว่าสถิติร้อยละดูเหมือนไม่มากนัก แต่อาจทำให้โอกาสทางการศึกษาของเด็กกลุ่มนี้ต่ำลง ปัจจุบันการจัดกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ยังเป็นการสนับสนุนเฉพาะระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ถึงแม้ว่าระดับมัธยมศึกษามีการยกเว้นค่าเล่าเรียน (เรียนฟรี) จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงแล้วในการเรียนการสอนไม่ได้มีเฉพาะค่าเล่าเรียนเท่านั้น ยังมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอีกมากมาย ถ้ารัฐมีการจัดสวัสดิการค่าใช้จ่ายที่จำเป็นให้กับเด็กที่ด้อยโอกาส การศึกษาของเด็กกลุ่มนี้ก็จะมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น
การหนีเรียนของกลุ่มตัวอย่าง โดยให้เหตุผลต่อการหนีเรียนว่า เพราะเบื่อครูมากที่สุด และรองลงมาเป็นเพราะเบื่อการเรียน ทั้งสองประเด็นมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนการสอน ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาเชิงลึก เพื่อการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา และกระบวนการเรียนการสอนในระบบการศึกษาที่เหมาะสมต่อไป
ภาวะซึมเศร้าและการคิดฆ่าตัวตาย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งสองประเด็น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานด้านการศึกษาควรให้ความสำคัญ ตลอดจนควรจัดให้มีการเรียนการสอนที่สอดแทรกความรู้ความเข้าใจในหลักสูตรที่เหมาะสม และควรพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง นำไปถ่ายทอด รวมทั้งใช้องค์ความรู้ในการเฝ้าระวังภายในสถานศึกษาได้อย่างเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน
การถูกทำร้ายจากบุคคลในครอบครัว พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 13.4 ในปี 2548 เป็น ร้อยละ 15.5 ในปี 2551 แสดงให้เห็นว่าความไม่เข้าใจของพ่อแม่ผู้ปกครองไม่เท่าทัน กับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เด็กในปัจจุบันมีการรู้สิทธิของตนมากขึ้น มีจิตใจที่อ่อนไหวง่ายจากแรงดึงดูดของสังคมภายนอก เมื่อเด็กถูกทำร้ายจากบุคคลในครอบครัว เป็นผลให้ความสัมพันธ์กับครอบครัวลดลง เมื่อยามเด็กมีปัญหาก็ไม่บอกพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่กลับไปปรึกษาเพื่อน หรือบุคคลภายนอก ถ้าได้รับคำแนะนำที่ดี ก็ดีไป หากได้รับคำแนะนำที่ไม่ดี อาจทำให้เด็กหลงเดินผิดทาง หรืออาจหาทางออกด้วยการเสพยาเสพติดเป็นทางออกทางระบายก็เป็นได้
พฤติกรรมการบริโภคสิ่งเสพติด ยังพบว่า ในปี 2551 มีกลุ่มตัวอย่างติดบุหรี่ ร้อยละ 6.5 และมีพฤติกรรมดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ในรอบ 1 เดือน ร้อยละ 15.3 ทั้งที่ประเทศไทยมีการรณรงค์การลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ รวมทั้งมีมาตรการเกี่ยวกับการจำกัดการจำหน่ายบุหรี่และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ แต่พฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ยังไม่ลดลงเท่าที่ควร ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหากลยุทธ์ที่เหมาะสม จูงใจให้เด็กเห็นโทษ พร้อมไปกับมาตรการบังคับลงโทษที่เหมาะสม รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ควรให้ความสำคัญและเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็ก โดยผลการสำรวจยังพบว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือบุคคลในบ้าน ร้อยละ 31.0 ในปี 2551 ยังใช้ให้เด็กเป็นผู้ซื้อบุหรี่ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อันเป็นการปลูกฝังทัศนคติ และค่านิยมให้เห็นว่า การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เป็นปกติธรรมดา ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า พ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่เข้าใจและละเลยการให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ประกอบกับหน่วยงานทางราชการเองก็ยังไม่มีการบังคับอย่างจริงจังในการจำหน่วยบุหรี่แลเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของร้านค้าให้กับเด็ก
ด้านพฤติกรรมด้านความรักและความสัมพันธ์ทางเพศ ควรให้ความสำคัญกับประเด็นการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันได้ขยายไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศในเด็กผู้ชายมากขึ้น และประเด็นการมีเพศสัมพันธ์กับคู่รัก ก่อนวัยอันควร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรให้การศึกษาทั้งในเชิงวัฒนธรรม จารีต ประเพณี รวมทั้งให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นการป้องกันตนเองจากโรคทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ (มีลูกอันไม่พึงประสงค์ในเพศหญิง) ด้วยสถิติข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันตนเองเลย ร้อยละ 3.7 ซึ่งนอกจากจะเป็นปัญหากับตนเอง ครอบครัว ชุมชน แล้ว ยังเป็นปัญหาทางสังคมอีกด้วย
อาสาเฝ้าระวังทางสังคม

Thursday, September 3, 2009

พฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทย 51 ตอน 4

|0 ความคิดเห็น
บทวิเคราะห์พฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทย จากรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทยในพื้นที่ 75 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร โดยสำรวจข้อมูลจากเด็กอายุ 13-18 ปี (ม.1-ม.6) จังหวัดละ 800 ตัวอย่าง ในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภออื่น ๆ จำนวนทั้งสิ้น 87,212 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2551 โดยศึกษาพฤติกรรมเด็ก 7 ด้าน คือ ด้านการเรียน ด้านการดูแลสุขภาพ ด้านความรุนแรงและความปลอดภัย ด้านสุขภาพใจ ด้านการบริโภค บุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแฮลกอฮอร์และสิ่งเสพติด ด้านความรักและพฤติกรรมทางเพศ และด้านการใช้เวลาว่างและการบันเทิง เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลผลการสำรวจในปี พ.ศ. 2548 กับปี พ.ศ. 2551 พบว่ามีประเด็นพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กไทย ที่มีพฤติกรรมที่ส่งผลในทางลบเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ที่สังคมควรต้องให้สนใจ และให้ความสำคัญ ดังนี้
1. สถิติแนวโน้มความสัมพันธ์ในครอบครัว พบว่า มีแนวโน้มสัดส่วนของความราบรื่น อบอุ่น น้อยลง (ร้อยละ 73.5 ต่อ 69.4) ถึงแม้ว่าจะมีสัดส่วนลดลงเพียงเล็กน้อย แต่ที่สำคัญความสัมพันธ์ในครอบครัว มีความสำคัญต่อรากฐานความสุขในครอบครัว และมีผลโดยตรงต่อความเข้มแข็งของสังคมโดยรวม ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ
2. การหนีเรียนของเด็กในวันเรียน มีสาเหตุหลักในการหนีเรียน มีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ คือ การเบื่อครู โดยมีสัดส่วนการเบื่อครูมีสถิติเพิ่มสูงขึ้น จากร้อยละ 8.0 ในปี พ.ศ. 2548 เป็นร้อยละ 11.1 ในปี พ.ศ. 2551 แสดงให้เห็นแนวโน้มความล้มเหลวในการเรียนการสอน ซึ่งอาจเกิดจากความไม่พร้อมในส่วนตัวของครูเอง เช่น ภาวะทางเศรษฐกิจ ภารกิจและปริมาณงานที่ไม่เหมาะสม ทำให้ครูขาดการพัฒนาวิธีการเรียนการสอน ให้เหมาะสมเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของกระแสต่าง ๆ ทางสังคมในปัจจุบัน
3. สถิติแนวโน้มการที่เด็กถูกทำร้ายจากบุคคลในครอบครัว จากการเปรียบเทียบสัดส่วน พบว่า มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2548 มีร้อยละ 13.4 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.5 ในปี พ.ศ. 2551
4. สถิติแนวโน้มความรู้สึกปลอดภัยโดยรวมในการดำเนินชีวิต พบว่า ผู้ให้ข้อมูลมีความรู้สึกปลอดภัยลดลง โดยที่ความปลอดภัยระดับมากลดลงจากร้อยละ 27.8 ในปี พ.ศ. 2548 เหลือร้อยละ 20.8 ในปี พ.ศ. 2551
5. สถิติแนวโน้มการคิดฆ่าตัวตายในรอบปีที่ผ่านมาของเด็กไทย พบว่า มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 12.7 ในปี พ.ศ. 2548 เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 14.8 ในปี พ.ศ. 2551 โดยพบว่าสาเหตุการคิดฆ่าตัวตายที่เป็นสาเหตุหลัก คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว (คิดเป็นร้อยละ 7.0 ในปี พ.ศ. 2551)
6. สถานการณ์การเริ่ม ทดลองสูบบุหรี่ในเด็กไทย พบว่า สถิติอัตราการเริ่มทดลองสูบบุหรี่ เพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มผู้ให้ข้อมูลทั้งเพศหญิง และชาย โดยในปี พ.ศ. 2548 เพศชาย มีสัดส่วน ร้อยละ 9.7 เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 11.9 ในปี พ.ศ. 2551 ในขณะที่เพศหญิง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.7ในปี พ.ศ. 2548 เป็นร้อยละ 3.0 ในปี พ.ศ. 2551 แสดงให้เห็นว่าค่านิยมในการทดลองการเริ่มสูบบุหรี่ เป็นค่านิยมของสังคมถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาไม่ถือเป็นปัญหา เพราะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
7. สถิติแนวโน้มการรักเพศเดียวกัน พบว่า มีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 7.1 ในปี พ.ศ. 2548 เป็นร้อยละ 6.5 ในปี พ.ศ. 2551 ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีการพยายามปกปิด ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว โดยเห็นได้ว่า ข้อมูลผู้ที่ไม่ตอบ และไม่แน่ใจ คิดเป็นร้อยละ 8.1 และ 5.7 ในปี พ.ศ. 2551
8. สถิติแนวโน้มการถูกล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 3.9 ในปี พ.ศ. 2548 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.2 ในปี พ.ศ. 2551 และยังพบว่า เพศชายมีสัดส่วนในการถูกล่วงละเมิดทางเพศมากกว่าเพศหญิง โดยในปี 2548 สัดส่วนเพศชายต่อเพศหญิง ร้อยละ 5.5 ต่อ 2.6 และ เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 7.1 ต่อ 5.7 ในปี 2551 ทั้งนี้อาจเป็นได้ว่าการล่วงละเมิดในเพศชายสังคมไม่ให้ความสำคัญมากนัก และผู้ล่วงละเมิดก็ใช้ช่องว่างทางทัศนคติของสังคมในการกระทำการล่วงละเมิดทางเพศในเพศชาย
9. สถิติแนวโน้มระดับความสัมพันธ์กับคนรัก ในระดับการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นสำคัญ มีสถิติแนวโน้มสูงขึ้น จากร้อยละ 2.4 ในปี 2548 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.9 ในปี 2551 ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรถือเป็นประเด็นปัญหาทางสังคมที่สำคัญปัญหาหนึ่ง ซึ่งอาจเปลี่ยนค่านิยมจากการรักนวลสงวนตัวในสตรีไทย เป็นค่านิยมแบบฟรีเซ็ก (Free Sex) แบบตะวันตกมากขึ้น
อาสาเฝ้าระวังทางสังคม

Wednesday, September 2, 2009

พฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทย 51 ตอน 3

|0 ความคิดเห็น
รายงานพฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทย 2551 ศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทยในพื้นที่ 75 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร โดยสำรวจข้อมูลจากเด็กอายุ 13-18 ปี (ม.1-ม.6) จังหวัดละ 800 ตัวอย่าง ในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภออื่น ๆ จำนวนทั้งสิ้น 87,212 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2551 โดยศึกษาพฤติกรรมเด็ก 7 ด้าน คือ ด้านการเรียน ด้านการดูแลสุขภาพ ด้านความรุนแรงและความปลอดภัย ด้านสุขภาพใจ ด้านการบริโภค บุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแฮลกอฮอร์และสิ่งเสพติด ด้านความรักและพฤติกรรมทางเพศ และด้านการใช้เวลาว่างและการบันเทิง โดยมีรายงานผลการศึกษา ด้านพฤติกรรมด้านความรักและความสัมพันธ์ทางเพศ และพฤติกรรมการใช้เวลาว่างและการบันทเทิงโดยสรุป ดังนี้
พฤติกรรมด้านความรักและความสัมพันธ์ทางเพศ ผลการศึกษา พบว่า ความรู้สึกรักเพศเดียวกัน ร้อยละ 6.5 และระบุว่ายังไม่แน่ใจว่ารักเพศเดียวกัน ร้อยละ 5.7 ส่วนการถูกล่วงเกินทางเพศ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.7 ระบุว่าไม่เคยถูกล่วงเกินทางเพศ และร้อยละ 6.2 ระบุว่าเคยถูกล่วงเกินทางเพศ ในขณะที่ความสัมพันธ์กับคนรัก กลุ่มใหญ่ (ร้อยละ 19.7) ระบุว่า มีการจับมือกับคู่รัก ร้อยละ 3.9 ระบุว่า มีการกอดจูบกับคู่รัก และ ร้อยละ 3.9 ระบุว่า มีเพศสัมพันธ์กับคนรัก และการมีเพศสัมพันธ์กันคนที่ไม่ใช่คนรัก พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6 ระบุว่า เคยมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่ใช่คนรัก หรือแฟน โดยความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์เพียง 1-2 ครั้ง ร้อยละ 3.5 และมากกว่า 10 ครั้ง ร้อยละ 1.0 ตามลำดับ โดยที่ช่วงอายุของการเพศสัมพันธ์ครั้งแรก พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 1.3 ระบุว่า มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุ 15 ปี รองลงมา เมื่ออายุ 14, 16, 17, 18 ปี คิดเป็นร้อยละ 0.9, 0.8, 0.4, 0.1 ตามลำดับ
พฤติกรรมด้านการใช้เวลาว่างและการบันเทิง ผลการศึกษา พบว่า กิจกรรมในวันหยุดเรียนที่ทำมากที่สุด คือ ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ร้อยละ 55.1 รองลงมา ทำการบ้าน, ดูหนัง ภาพยนตร์, อยู่กับเพื่อน, อ่านหนังสือเรียน, อ่านหนังสือการ์ตูน, เล่นกิฬา, เล่นเกมส์, เล่นอินเตอร์เนต และอยู่คนเดียว คิดเป็นร้อยละ 45.7, 42.7, 40.3, 36.9, 34.4, 33.2, 29.6, 28.8 และ 25.1 ตามลำดับ การใช้คอมพิวเตอร์ของกลุ่มตัวอย่างจากมากไปน้อย ระบุว่า เพื่อการเรียนรู้ ค้นคว้า, ทำงาน ทำรายงาน, เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์, สื่อสารกับเพื่อนทางเนต (internet), ดูหนังฟังเพลง คิดเป็นร้อยละ 41.1, 18.0, 11.9, 9.7 และ 8.5 ตามลำดับ ส่วนการใช้เวลาพูดคุยโทรศัพท์ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า ร้อยละ 58.7 ใช้เวลาในการพูดคุยโทรศัพท์น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน และ ร้อยละ 23.4 ระบุว่า ใช้เวลาในการพูดคุยโทรศัพท์ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน
สรุปได้ว่าพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนไทย ปี 2551 ที่เป็นพฤติกรรมเสี่ยง กล่าวคือ พฤติกรรมด้านการเรียน มีการหนีเรียนโดยมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ที่ส่งผลให้เด็กเบื่อการเรียน ไม่สนใจเรียน เป็นสาเหตุหลัก ด้านพฤติกรรมด้านการดูแลสุขภาพ ส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าตนเองมีรูปร่างดีอยู่แล้ว แต่มีข้อสังเกตพบว่า เมื่อเด็กอายุมากขึ้นมักมีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานมากขึ้น พฤติกรรมความรุนแรงและความปลอดภัย ส่วนใหญ่มีความรู้สึกที่ปลอดภัยในชีวิตประจำวัน พฤติกรรมด้านสุขภาพใจ พบว่าเด็กมีความเครียด ซึมเศร้าอันมีสาเหตุจากการเรียนเป็นส่วนใหญ่ และยังพบว่าสาเหตุของการฆ่าตัวตายเกิดจากครอบครัวเป็นหลัก พฤติกรรมด้านการบริโภคบุหรี่ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีแนวโน้มอัตราการทดลอง เริ่มสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และสารเสพติด มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในขณะที่อายุที่เริ่มครั้งแรกน้อยลง ในขณะที่พฤติกรรมด้านความรักและความสัมพันธ์ทางเพศ มีแนวโน้มการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวันอันควรเพิ่มมากขึ้น และการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกมีอายุน้อยลง และมีอัตราการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนรักหรือแฟน มากขึ้นเช่นกัน และพฤติกรรมด้านการใช้เวลาว่างและการบันเทิง เด็กมีพฤติกรรมด้านการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เพิ่มมากขึ้น และใช้เวลากับสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ทั้งด้านที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ (ที่มาของข้อมูล: รายงานฉบับสมบูรณ์กรศึกษาพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กไทยในพื้นที่ 75 จังหวัด ปี 2551, ศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2551)
โดย.....อาสาเฝ้าระวังทางสังคม

พฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทย 51 ตอน 2

|0 ความคิดเห็น
รายงานพฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทย 2551 ศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทยในพื้นที่ 75 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร โดยสำรวจข้อมูลจากเด็กอายุ 13-18 ปี (ม.1-ม.6) จังหวัดละ 800 ตัวอย่าง ในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภออื่น ๆ จำนวนทั้งสิ้น 87,212 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2551 โดยศึกษาพฤติกรรมเด็ก 7 ด้าน คือ ด้านการเรียน ด้านการดูแลสุขภาพ ด้านความรุนแรงและความปลอดภัย ด้านสุขภาพใจ ด้านการบริโภค บุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแฮลกอฮอร์และสิ่งเสพติด ด้านความรักและพฤติกรรมทางเพศ และด้านการใช้เวลาว่างและการบันเทิง โดยมีรายงานผลการศึกษา ด้านพฤติกรรมความรุนแรงและความปลอดภัย ด้านสุขภาพใน และด้านการบริโคบุหรี่ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ โดยสรุป ดังนี้
พฤติกรรมด้านความรุนแรงและความปลอดภัย ผลการศึกษา การถูกทำร้ายร่างกายจากบุคคลในครอบครัว พบว่า ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 82.4) ระบุว่าไม่เคยถูกทำร้ายร่างกาย รองลงมาร้อยละ 10.7 ระบุว่า ถูกทำร้าย 1-2 ครั้ง และถูกทำร้ายมากกว่า 10 ครั้ง ร้อยละ 1.0 โดยสาเหตุที่ถูกทำร้าย กลุ่มใหญ่ (ร้อยละ 10.7) ระบุว่าระบุว่าเกิดจากความขัดแย้งไม่เข้าใจกัน รองลงมาระบุว่า เกิดจากการลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ร้อยละ 3.5 ส่วนการทะเลาะวิวาทอย่างรุนแรง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.9 ระบุว่า ไม่เคยมีการทะเลาะวิวาท ส่วนกลุ่มที่มีการทะเลาะวิวาท ระบุว่า ระบุว่ามีการทะเลาะวิวาท 1-2 ครั้ง ร้อยละ 15.1 และมากกว่า 10 ครั้ง ร้อยละ 0.3 ส่วนการถูกขโมยหรือชิงทรัพย์สิน พบว่า ร้อยละ 31.1 (จำนวน 26,995 คน) ระบุว่าถูกขโมยหรือชิงทรัพย์สิน โดยถูกขโมยหรือชิงทรัพย์สิน 1-2 ถึงร้อยละ 21.9 และมากกว่า 10 ครั้ง ร้อยละ 2.2 ในด้านการพกพาอาวุธไปโรงเรียน ในรอบ 1 เดือน (ก่อนการสำรวจ) พบว่า มีการพกพาอาวุธไปโรงเรียน ร้อยละ 12.8 และด้านความรู้สึกปลอดภัยโดยรวมของชีวิตประจำวัน พบว่า ส่วนมาก (ร้อยละ 74.3) ระบุว่า รู้สึกปลอดภัยในชีวิตประจำวัน และร้อยละ 23.9 ระบุว่า ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน
พฤติกรรมด้านสุขภาพใจ ผลการศึกษา พบว่า การประเมินคุณค่าของตนเองต่อพ่อแม่และครอบครัว กลุ่มตัวอย่างส่วนมาก (ร้อยละ 76.1) ระบุว่า ตนเองมีคุณค่าต่อพ่อแม่และครอบครัว โดยที่ร้อยละ 4.2 ระบุว่าไม่มีคุณค่าเลย โดยสาเหตุของความเครียดของตัวอย่าง พบว่า กลุ่มใหญ่ (ร้อยละ 48.8) ระบุว่า สาเหตุจากการเรียน รองลงมา ร้อยละ 9.5 ระบุว่า สาเหตุจากครอบครัว ร้อยละ 7.0 ระบุว่า สาเหตุจากแฟน หรือคนรัก และ ร้อยละ 5.5 ระบุว่า สาเหตุจากเพื่อน ส่วนอาการซึมเศร้า เบื่อหน่ายต่อเนื่องจนต้องหยุดทำกิจกรรมที่เคยทำปกติ พบว่า ร้อยละ 39.9 ระบุว่ารู้สึกซึมเศร้าและต้องหยุดทำกิจกรรมที่เคยทำปกติ โดยสาเหตุการซึมเศร้าจนต้องหยุดกิจกรรมปกติ พบว่า กลุ่มใหญ่ ร้อยละ 22.6 ระบุว่า เกิดจากการเรียน รองลงมา ร้อยละ 7.6 ระบุว่า สาเหตุจากครอบครัว และ สาเหตุจากสิ้นหวังในตนเอง จากคนรัก และเพื่อน ร้อยละ 6.2, 6.1 และ 6.8 ตามลำดับ ส่วนสาเหตุของการคิดฆ่าตัวตาย พบว่า กลุ่มตัวอย่างมากสุดระบุว่า เกิดจากคนในครอบครัว (ร้อยละ 7) รองลงมาเกิดจากการเรียน (ร้อยละ 6.4) และเกิดจากเพื่อน ร้อยละ 1.6
พฤติกรรมด้านการบริโภคบุหรี่ เครื่องดื่มมีแฮลกอฮอล์ และสิ่งเสพติด ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมากที่สุด ระบุว่า เริ่มสูบบุหรี่ ครั้งแรกมีอายุน้อยกว่า 14 ปี (ร้อยละ 2.1) และช่วงอายุ 14,15,6, 17,18 ปี ร้อยละ 2.0, 2.0, 0.8, 0.4 และ 0.1 ตามลำดับ โดยกลุ่มสูบบุหรี่ ระบุว่า ในรอบ 1 เดือน กลุ่มใหญ่ระบุว่า สูบ 1-10 มวนต่อวัน (ร้อยละ 5.0) รองลงมา สูบบุหรี่เกิน 20 มวนต่อวัน ร้อยละ 4.8 และสูบ 11-20 มวนต่อวัน ร้อยละ 0.7 โดยที่การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ พบว่า กลุ่มใหญ่ ร้อยละ 4.8 ระบุว่า ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ครั้งแรก อายุ 15 ปี รองลงมา เมื่ออายุ 14 ปี ร้อยละ 4.1 และน้อยกว่า 14 ปี ร้อยละ 3.7 ตามลำดับ โดยที่อัตราความถี่ในการดื่มในรอบ 1 เดือน พบว่า ร้อยละ 9.6 ระบุว่า ดื่มเพียง 1-2 วัน รองลงมา ดื่ม 3-5 วัน และทุกวัน ร้อยละ 9.6, 2.1 ตามลำดับ ด้านการเสพสิ่งเสพติดครั้งแรก พบว่าเสพครั้งแรกเมื่ออายุน้อยกว่า 15 ปี ร้อยละ 0.6 อายุ 14 ปี ร้อยละ 0.5 และน้อยกว่า 14 ปี ร้อยละ 0.5 ตามลำดับ โดยระบุแหล่งที่มาของสิ่งเสพติด กลุ่มตัวอย่างระบุว่า ได้จากเพื่อนสนิทที่อื่นไม่ใช่ที่โรงเรียน ร้อยละ 2.7 และจากเพื่อนสนิทที่โรงเรียน ร้อยละ 2.0 และ จากผู้ค้าหรือชาวบ้าน คนในครอบครัว ครู และเจ้าหน้าของรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.4, 0.3, 0.3 และ 0.2 ตามลำดับ
โดย.....อาสาเฝ้าระวังทางสังคม

พฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทย 51 ตอน 1

|0 ความคิดเห็น
รายงานพฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทย 2551 ศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทยในพื้นที่ 75 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร โดยสำรวจข้อมูลจากเด็กอายุ 13-18 ปี (ม.1-ม.6) จังหวัดละ 800 ตัวอย่าง ในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภออื่น ๆ จำนวนทั้งสิ้น 87,212 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2551 โดยศึกษาพฤติกรรมเด็ก 7 ด้าน คือ ด้านการเรียน ด้านการดูแลสุขภาพ ด้านความรุนแรงและความปลอดภัย ด้านสุขภาพใจ ด้านการบริโภค บุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแฮลกอฮอร์และสิ่งเสพติด ด้านความรักและพฤติกรรมทางเพศ และด้านการใช้เวลาว่างและการบันเทิง โดยมีรายงานผลการศึกษา ด้านพฤติกรรมการเรียน และพฤติการการดูแลสุขภาพ โดยสรุป ดังนี้
1.พฤติกรรมด้านการเรียน พบว่า กลุ่มตัวอย่างชอบเรียน 5 อันดับ คือ คณิตศาสตร์ (ร้อยละ 19.0) คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 16.2) พละศึกษา (ร้อยละ 11.4) ภาษาอังกฤษ (ร้อยะละ 11.1) และ วิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 10.8) ตามลำดับ ส่วนพฤติกรรมการหนีเรียน ตามกลุ่มจำนวนครั้ง พบว่า เคยหนีเรียน 1-2 ครั้ง (ร้อยละ 20.4) รองลงมาหนีเรียน 3-5 ครั้ง (ร้อยละ 7.2) และน้อยที่สุด หนีเรียน 6-10 ครั้ง (ร้อยละ 2.1) โดยสาเหตุการหนีเรียน คือ เบื่อครู (ร้อยละ 11.1) เพื่อนชวน (ร้อยละ 7.4) และมีกิจกรรมอื่นต้องทำ (ร้อยละ 6.6) โดยผู้ที่ตอบว่าเบื่อครู พบว่า หนึ่งในสาม (ร้อยละ 35.5) ระบุว่าสอนไม่เข้าใจ และหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 25.8) ระบุว่า ครูดุ เข้มงวดเกินไป
2. พฤติกรรมด้านการดูแลสุขภาพ ผลการศึกษาพบว่า ความพอใจในรูปร่างตนเอง กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 51.1) ระบุว่า พอใจในรูปร่างตนเองระดับพอดี ร้อยละ 20.7 ระบุว่าค่อนข้างอ้วนไป ร้อยละ 18.9 ระบุว่าค่อนข้างผอม โดยที่การมีโรคประจำตัว 3 อันดับแรก คือ โรคภูมิแพ้ (ร้อยละ 5.2) โรคเกี่ยวกับช่องท้อง (ร้อยละ 3.6) และโรคเกี่ยวกับระบบหายใจ (ร้อยละ 2.2) ด้านความคิดในการเสริมแต่งร่างกาย พบว่า ต้องการลดน้ำหนักมากที่สุด (ร้อยละ 14.6) รองลงมาต้องการผ่าติดเสริมสวย (ร้อยละ 8.3) ส่วนการดื่มน้ำอัดลมในรอบ 1 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มใหญ่ (ร้อยละ 49.5) ระบุว่า ดื่มเพียงบางวัน รองลงมาไม่ดื่มเลย ร้อยละ 27.5 ด้านการออกกำลังกายในรอบ 1 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มใหญ่ระบุว่าไม่มีความแน่นอนในการออกกำลังกาย (ร้อยละ 43.2) รองลงมา ร้อยละ 15.1 ไม่เคยออกกำลังกายเลย สรุปได้ว่า การดูแลสุขภาพร่างกาย มากกว่าครึ่งมีรูปร่างพอดี แต่มีข้อสังเกตว่า เมื่ออายุมากขึ้นกลับมีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานมากขึ้น ซึ่งมีความสอดคล้องกับการต้องการลดน้ำหนักถึงร้อยละ 14.6 มีการการทานอาหารประเภทขบเคี้ยวถึงร้อยละ 8 และไม่มีการออกกำลังกายเลยถึงร้อยละ 15.1
โดย.....อาสาเฝ้าระวังทางสังคม

Tuesday, September 1, 2009

รายงานการค้ามนุษย์ 2552

|0 ความคิดเห็น
รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2552: ประเทศไทย (ที่มา สถานทูตสหรัฐอเมริการ กรุงเทพมหานคร: 17 มิถุนายน 2552) โดยเมื่อวันอังคารที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2552 ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเหยื่อของการค้ามนุษย์ ฉบับแก้ไข ซึ่งผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรสในปี พ.ศ. 2543 สภาคองเกรสกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต้องส่งมอบรายงานประจำปีเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ในการกำจัดการค้ามนุษย์ในรูปแบบที่เลวร้าย เป้าหมายของรายงานการค้ามนุษย์คือการเพิ่มจิตสำนึกของประชาชนทั่วโลก กระตุ้นให้มีการดำเนินการ และเสริมสร้างความร่วมมือทั่วโลกเพื่อต่อสู้กับการค้าทาสสมัยใหม่
อาชญากรรมการค้ามนุษย์มีผลกระทบต่อเราทุกคน รวมทั้งสหรัฐอเมริกา รัฐบาลสหรัฐฯ ภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับประเทศต่างๆ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรเอกชน เพื่อต่อสู้กับปัญหานี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ใช้เงินประมาณ 76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลและองค์กรเอกชนในราว 70 ประเทศในการดำเนินโครงการปราบปรามการค้ามนุษย์ 140 โครงการ และตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้เงินสนับสนุนกว่า 604 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แก่โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในต่างประเทศ ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการปราบปรามการค้ามนุษย์ได้จากรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2552
รายงานค้ามนุษย์ประจำปี 2552 นี้ ระบุให้ไทยอยู่ในกลุ่มสอง ซึ่งหมายความว่าความพยายามของรัฐบาลไทยในการปราบปรามการค้ามนุษย์ยังไม่ได้มาตรฐานขั้นต่ำ แต่รัฐบาลกำลังใช้ความพยายามอย่างมากในการปราบปราม รายงานฉบับนี้ตระหนักถึงความพยายามของรัฐบาลไทยในการนำ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฉบับใหม่มาใช้ โดย พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้มีเนื้อหาครอบคลุมและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว นอกจากนี้ รายงานยังเสนอแนะมาตรการเพิ่มเติมในการต่อสู้กับปัญหาด้วย (ดาวน์โหลดรายงานฉบัฤบเต็ม ภาษาไทย| ภาษาอังกฤษ)

เด็ก"สังเวยเซ็กซ์ เหยื่อศก.โลกฟุบ!

|0 ความคิดเห็น

ยิ่งเศรษฐกิจซบเซา ยิ่งทำให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์มากขึ้น (ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 25 สิงหาคม 2552 ปีที่ 9 ฉบับที่ 6844 ข่าวสดรายวัน) โดยมีเนื้อหารายงานข่าว
ยิ่งเศรษฐกิจซบเซา ยิ่งทำให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์มากขึ้น เพราะเมื่อเงินในกระเป๋าน้อยลง ผู้ใหญ่ที่เคยจ่ายเงินเพื่อซื้อเพศสัมพันธ์ก็ลดรายจ่ายส่วนนี้ลงโดยแสวงหาเด็กและเยาวชนเพื่อมาเสพสุขทางเพศแทนเพราะราคาจ่ายน้อยกว่า
องค์การเพื่อยุติการค้าประเวณีเด็ก สื่อลามก อนาจารเด็ก และการค้าเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ หรือ เอ็คแพท เปิดรายงาน "ปกป้องพวกเขาด้วยมือเราสถาน การณ์การค้าเด็ก เพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศทั่วโลก" ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้เด็กและเยาวชน ที่ถูกค้าภายในประเทศของตนเองมีจำนวนมากขึ้น การค้ามนุษย์ในประเทศมักเกี่ยวข้องกับการย้ายเขตจากชนบทเข้าสู่เมือง หรือจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่งโดยไม่ต้องมีเอกสารการเดินทาง
แนวโน้มของขุมทรัพย์ที่ตักตวงได้จากการค้าเด็กและเยาวชน ทั้งชายและหญิงในแวดวงการค้าประเวณี คาดว่าทำเงินได้ราว 27,800 ล้านดอลลาร์ หรือราว 945,200 ล้านบาทต่อปี ผลกำไรทั้งปีต่อผู้ถูกค้าแต่ละคนอาจสูงถึง 67,200 ดอลลาร์ หรือราว 2.28 ล้านบาท กระบวนการค้าประเวณีเด็กและเยาวชนมักเริ่มจากคนชาติเดียวกันหรือแม้แต่อยู่ในชุมชนเดียวกัน เช่น เพื่อนบ้านหรือสมาชิกในครอบครัว รวมถึงผู้ปลอมแปลงเอกสาร เจ้าหน้าที่คอร์รัปชั่น ผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากการค้าทางเพศและธุรกิจท่องเที่ยว ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์เพิ่มสูงขึ้น เช่น ความยากจน ด้อยการศึกษา ตกงานหรือไม่ได้รับการว่าจ้าง ครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงหรือพ่อแม่ติดยาเสพติดหรือของมึนเมา หรือครอบครัวแตกแยก อีกทั้งสังคมและวัฒนธรรมก็มีส่วนทำให้เด็กและเยาวชนต้องเป็นแรงงานหรืออพยพไปทำงานถิ่นอื่นและกลายเป็นเหยื่อในกระบวนการค้ามนุษย์
การค้ามนุษย์กลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสาม และเป็นอุตสาหกรรมที่มีความผิดทางอาญาที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก สถิติที่เก็บบันทึกได้ ระบุว่า เด็ก 1.8 ล้านคนถูกแสวงหาประโยชน์ในธุรกิจการค้าประเวณีระดับโลก แต่ตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้ เนื่องจากการค้ามนุษย์เป็นธุรกิจใต้ดินซึ่งธุรกิจนี้กระจายอยู่ทุกมุมโลก และไม่ได้เกิดเฉพาะกับประเทศที่ยาก จนที่สุดเท่านั้น
ดร.นาจาท มะจิด มาลลา ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการค้าเด็ก การค้าประเวณีและสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก กล่าวในการเปิดตัวโครงการรณรงค์หยุดค้าเด็กและเยาวชนเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศระดับสากล ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ว่า ในแต่ละปีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี หลายล้านคนถูกค้า ส่วนใหญ่เป็นการค้าเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศ จากการประมาณการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เกี่ยวกับแรงงานเด็กพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ราว 1.2 ล้านคน ส่วนใหญ่ถูกค้าเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ 
ในปี 2552 รายงานระดับโลกเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (ยูเอ็นโอดีซี) ระบุว่าการค้ามนุษย์เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 79 ของการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบรวมกัน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงมักเสี่ยงต่อการถูกทารุณกรรมทางเพศและถูกบังคับให้ค้าประเวณีมากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรือวัยสาว
คาร์เม็น มาดรินาน ผู้อำนวยการเอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าสัดส่วนของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการค้ามนุษย์เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 22 ในช่วงปีพ.ศ.2546-2550 รายงานที่จัดทำโดยแชร์ โฮป อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนของอเมริกาเหนือระบุว่าในอเมริกามีเด็กประมาณ 1 แสนคนต่อปีที่เป็นเหยื่อค้าประเวณี ส่วนใหญ่ถูกค้าในประเทศเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ
ส่วนประเทศไทย สุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการเดอะ บอดี้ ช็อป ประเทศไทย กล่าวว่า ไทยเป็นทั้งศูนย์กลางการค้ามนุษย์เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศบริเวณแนวชายแดนเลียบแม่น้ำโขง มีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีจำนวนมากที่ถูกล่อลวงเข้าสู่วงจรค้ามนุษย์ในประเทศ หรือข้ามแดนไปต่างประเทศด้วย ยิ่งกว่านั้น ไทยเป็นทั้งต้นทาง ทางผ่าน และปลายทาง ที่มีการค้าเด็กในประเทศด้วย จึงเป็นเหตุผลหลักในการเปิดตัวโครงการรณรงค์ระดับสากล เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนกว่าล้านคนจากทั่วโลกที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์โดยความร่วมมือระหว่างเอ็คแพท และเดอะ บอดี้ ช็อป ซึ่งจะใช้เครือข่ายร้านค้ากว่า 2,500 ร้าน รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับปัญหาการค้าเด็กและแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก